Starlink กับความฝันที่จะเชื่อมโลกทั้งใบให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

Share

Loading

ระบบอินเทอร์เน็ตถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคต แต่ในปัจจุบันก็ยังประสบกับปัญหาของสัญญาณไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นเหตุให้ อีลอน มัสก์ พยายามที่จะสร้างเทคโนโลยีบางอย่างขึ้นมาอุดช่องว่างของปัญหานี้ให้หมดไป

Starlink คืออะไร

Starlink ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ SpaceX ซึ่งเป็นบริษัทในการดูแลของ อีลอน มัสก์ ที่มุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยโครงการ Starlink มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั้งโลก และผู้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ลอยต่ำกว่าวงโคจรของดาวเทียมทั่ว ๆ ไปถึง 60 เท่า และด้วยแนวคิดนี้เอง จึงเชื่อว่านอกจากจะเป็นการกระจายสัญญาณครอบคลุมทุกพื้นแล้ว ยังจะทำให้ Starlink แก้จุดอ่อนด้าน latency ให้ต่ำได้จนเหลือเพียง 20-40Ms หรือเทียบเท่ากับอินเทอร์เน็ตบ้านเลยทีเดียว รวมถึงยังให้สปีดดาวน์โหลดของอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วที่ 50–150Mb/s

ถ้าจะว่ากันตามจริง เรื่องอินเทอร์เน็ตดาวเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีการใช้ด้าวเทียมวงโคจรค้างฟ้ามามากกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าข้อดีของมันคือการให้บริการที่กว้างไกล แต่ข้อเสียก็คือความหน่วงค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน และยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงยากเนื่องจากถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เสียเป็นหลัก แถมมีค่าบริการสูงและติดตั้งยาก จึงไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ 4G-5G หรือไฟเบอร์

แต่สำหรับ Starlink นั้น อาจจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนอินเทอร์เน็ตดาวเทียมแบบเดิมก็เป็นไปได้ โดยการใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำจำนวน 42,000 ดวง โดยส่งขึ้นไปสู่อวกาศเพื่อกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน

มีโครงการต่าง ๆ ที่คล้าย ๆ กัน

ในปี 2011 Google ได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า Loon ซึ่งมีแนวคิดที่จะส่งบอลลูนให้ลอยอยู่บนฟ้า และควบคุมให้ไปโคจรอยู่บนบริเวณที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง เช่น หุบเขา กลางมหาสมุทร กลางทะเลทราย เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล

นอกจากนี้ Facebook ก็เคยมีโครงการที่ชื่อว่า Aquila ซึ่งเป็นการทดลองส่งโดรนขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้า เพื่อส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล แต่ในที่สุดทั้ง 2 โครงการนี้ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ในเวลาต่อมา

และที่ใกล้เคียงกับ Starlink มากที่สุด ก็เห็นจะเป็นโครงการ Project Kuiper ของ Amazon ที่มีแนวคิดว่าจะสร้างเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จำนวน 3,236 ดวง ซึ่งจะทำให้สามารถกระจ่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบริเวณพิกัดพื้นที่ 56 องศาเหนือถึง 56 องศาใต้ หรือระหว่างสกอตแลนด์และบริเวณอเมริกาใต้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า โครงการในลักษณะดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาล จึงทำให้หลาย ๆ โครงการที่กล่าวมาข้างต้นถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่สำหรับ อีลอน มัสก์ ด้วยลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง เขาจึงเป็นคนที่กล้าลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 3 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าหากโครงการนี้สำเร็จ ฝ่าย อีลอน มัสก์ เองก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเขาถึงปีละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

เริ่มทดลองใช้ในปี 2022

ปัจจุบันประชากรโลกมีราว ๆ 7.6 พันล้านคน แต่ผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมีเพียง 4.54 พันล้านคน ซึ่งปัญหาหนึ่งอาจจะมาจากการกระจายสัญญาณยังเข้าไม่ถึง จนเป็นที่มาของโครงการ Starlink ที่มีความฝันในการทำให้ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร้ขีดจำกัด

โดยเมื่อต้นปี 2021 ก็ได้เริ่มมีการเปิดให้ผู้สนใจจะใช้บริการของ Starlink ทำการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ ซึ่งบริการนี้มีราคาอยู่ที่ 99 ดอลลาร์หรือประมาณ 3,000 บาท แต่ผู้ใช้งานจะต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมอีกประมาณ 499 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,000 บาท โดยในอเมริกามีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 700,000 รายเลย ส่วนในประเทศไทยเองก็มีข่าวว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2022

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สำหรับในประเทศไทยเอง กสทช. ได้ออกมาระบุว่า การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย ต้องได้รับการอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเริ่มให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผู้ยื่นขอรับอนุญาตเพื่อให้บริการ Starlink ในประเทศไทย มีแต่เพียงการขอข้อมูลและปรึกษาการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมต่างชาติ เท่านั้น

เรียบเรียงโดย SmartCitythailand.com

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.starlink.com