ไม่เสียชื่อ “เทพแห่งนวัตกรรม” “ญี่ปุ่น” นำร่อง “ดาวเทียมไม้” ส่งขึ้นวงโคจรชาติแรกของโลก!

Share

Loading

นอกจากฉายา “เทพแห่งงานบริการ” แล้ว เป็นที่ทราบกันดี ว่า “ญี่ปุ่น” คือเจ้าของตำแหน่ง “เทพแห่งนวัตกรรม” อีกชื่อหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีอวกาศ ที่แม้จะมีข้อผูกมัดที่กดไม่ให้ “ญี่ปุ่น” สร้างแสนยานุภาพทางการทหารและภารกิจอวกาศ จากประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ทว่า เมื่อกฎเกณฑ์ค่อยๆ ผ่อนคลาย งานด้านอวกาศของ “ญี่ปุ่น” จึงรุดหน้าแซงชาติอื่นไปไกลอย่างไม่เห็นฝุ่น

ด้วยการนำร่อง สรรค์สร้าง “ดาวเทียมไม้” และมีแผนนำส่งขึ้นวงโคจรอวกาศ เป็นชาติแรกของโลก

ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ก็คือ “หวังช่วยลดขยะอวกาศ” ครับ!

Clear Space ชี้ว่า ปัจจุบัน นอกเหนือจากดาวเทียมเกือบ 6,000 ดวงที่กำลังโคจรรอบโลกของเราที่มีถึงเกือบครึ่งที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ยังมีดาวเทียมอีกกว่า 3,000 ดวงที่ถูกทอดทิ้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษวัสดุจากภารกิจอวกาศของประเทศต่างๆ กำลังล่องลอยอยู่นอกโลกมากกว่า 34,000 ชิ้น และมีแนวโน้มจะทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

รวม “ขยะอวกาศ” ทั้งสิ้นมีมากกว่า 130 ล้านชิ้น!

โดยโครงการ “ดาวเทียมไม้” นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Kyoto กับบริษัท Sumitomo Forestry เป้าหมายหลักคือการช่วยลดปริมาณ “ขยะอวกาศ” ที่นับวันก็รังแต่จะมีปริมาณมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ

“ดาวเทียมไม้” ดวงนี้มีชื่อว่า LignoSat ครับ

โดยบริษัท Sumitomo Forestry และมหาวิทยาลัย Kyoto ได้แถลงร่วมกันว่า LignoSat จะเป็น “ดาวเทียมไม้” ดวงแรกของโลก ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “กล่องเก็บอุปกรณ์”

เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องไม้เครื่องมือภายในดาวเทียมหลุดลอยออกไปนอกกล่อง กลายเป็น “ขยะอวกาศ”

ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi อดีตนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัย Kyoto หัวหน้าโครงการ “ดาวเทียมไม้” LignoSat บอกว่า โดยปกติแล้ว ดาวเทียมทั่วๆ ไป มักจะขึ้นรูปโดยอลูมิเนียม ขณะที่ LignoSat จะใช้ไม้

ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi อดีตนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น

“ดาวเทียมไม้ LignoSat ของเรา แน่นอนว่า ต้องประกอบสร้างจากไม้ เพราะเรา (มหาวิทยาลัย Kyoto) กับบริษัท Sumitomo Forestry เห็นพ้องต้องกันว่า ไม้มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าโลหะอื่นๆ ที่ไม่กั้นคลื่นอิเล็คทรอนิกส์หรือสนามแม่เหล็กของโลก” ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi กระชุ่น

แปลไทยเป็นไทยก็คือ กล่องไม้ของ LignoSat สามารถนำเอาเสาอากาศ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ใส่เอาไว้ข้างในได้อย่างสบาย โดยที่ยังสามารถสื่อสารผ่านคลื่นอิเล็คทรอนิกส์หรือสนามแม่เหล็กของโลกได้เหมือนดาวเทียมอลูมิเนียมทุกประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล่องหรือโครงไม้ของ LignoSat จะช่วยห่อหุ้มอุปกรณ์ต่างๆ ของดาวเทียม ที่ส่วนใหญ่มักจะหลุดออกมาเป็น “ขยะอวกาศ” อยู่เสมอ ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi กล่าว และว่า

เมื่อดาวเทียมอลูมิเนียมโคจรกลับเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลก มันจะถูกเผาไหม้และปล่อยอนุภาคอลูมินาหรืออลูมินัมออกไซด์ออกมา ซึ่งอนุภาคเหล่านี้จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกไปอีกหลายปี ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะที่ “ดาวเทียมไม้” LignoSat ของเรา จะถูกเผาไหม้หมดไปเมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้ไม่เกิดขยะหลงเหลืออยู่ในอวกาศนั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. Takao Doi สรุป

โครงการ “ดาวเทียมไม้” LignoSat ถือเป็นความพยายามในการช่วยลดปริมาณ “ขยะอวกาศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การด้านอวกาศหลายแห่งมีแต่โครงการ “เก็บขยะอวกาศ” ซึ่งเป็นเพียงการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ทว่า โครงการ “ดาวเทียมไม้” LignoSat จะเป็นการลดการสร้างปัญหา “ขยะอวกาศ” ที่ต้นเหตุ

แม้ว่าในปัจจุบัน ทั้งมหาวิทยาลัย Kyoto และทั้งบริษัท Sumitomo Forestry จะยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเพื่อค้นหาชนิดของไม้ และสารเคลือบไม้ที่เหมาะสมกับภารกิจในห้วงอวกาศให้มากที่สุด

ต้องหาไม้ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างแปรปรวนและรุนแรงได้ของอุณหภูมิ รังสี และแสงอาทิตย์

โดยบริษัท Sumitomo Forestry และมหาวิทยาลัย Kyoto มีแผนส่งดาวเทียมจากไม้ขึ้นสู่วงโคจรปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) พร้อมกับการสร้างสถานีอวกาศด้วยไม้ทั้งหมดอีกด้วย!

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/06/japan-wooden-satellite/