IoT และ Big Data ช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจค้าปลีกอาหารได้อย่างไร

Share

Loading

“ขยะอาหาร” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของโลก จะดีแค่ไหน ถ้า Internet of Things (IoT) และ Big Data ช่วยให้ผู้ประกอบการค้าปลีกอาหารสามารถรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารโดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด

ในขณะที่ประชาคมโลกยังคงมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศก็กำลังลงทุนในพลังงานสีเขียวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวและยืนหยัดต่อไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงพยายามลดหรือปรับรูปแบบการใช้พลังงานเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนำพลังงานส่วนเกินไปบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

IoT เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและปัญหาทางธุรกิจได้ โดยการนำข้อมูลที่เก็บบันทึกไว้ในรูปแบบของ Big Data มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจนั้นๆ ได้อย่างแท้จริงว่า ผู้บริโภคพฤติกรรมการใช้งานแบบใด มีความต้องการอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปพัฒนาโซลูชั่น ตลอดจนสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นให้ตรงจุด

จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้โลกของเราขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น ลองสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราดูสิ เรามีข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลจากอุปกรณ์สวมใส่เพื่อออกกำลังกายมานานหลายปีแล้ว แต่ทำไมถึงหยุดแค่นั้น? การตั้งค่าระบบเซ็นเซอร์ IoT ทำให้สามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์มากกว่านั้น  โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจของผู้ประกอบการค้าปลีกอาหารให้ยั่งยืน ด้วยการลดการสูญเสียอาหาร และการประหยัดพลังงานที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง คือสิ่งที่พึงทำ

ผู้ค้าปลีกอาหารพร้อมหรือยัง สำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ร้านค้าปลีกอาหารมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ โดยภาคการค้าปลีกใช้ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 2% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั่วโลก นับเป็นสัดส่วนที่มากกว่าศูนย์ข้อมูล (Data Center) ด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่าการใช้โซลูชัน IoT เพื่อตรวจสอบพลังงานและสินทรัพย์ในร้านค้าต่างๆ จะสามารถให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างในเชิงบวกได้อย่างมีนัยสำคัญ หรือกล่าวคือลดสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวลงได้

“ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยั่งยืน” จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโซลูชันสำหรับระบบอาหารทั่วโลกที่กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน นี้ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตดังกล่าวสามารถช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12.3 ขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีเป้าหมายเพื่อ “ลดขยะอาหารทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งต่อหัว และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2030” เพราะทุกวันนี้ 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตในปัจจุบันนั้นสูญเปล่าหรือสูญเสียไปอย่างไร้ค่า แม้ในขณะที่ความหิวโหยกำลังคืบคลานและเกาะกินผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ น่าเสียดายที่ว่าในประเทศอุตสาหกรรม มีอาหารมากถึง 40% ถูกทิ้งในระดับธุรกิจค้าปลีกและระดับผู้บริโภค

เราทราบกันดีว่า “การแช่อาหารในตู้เย็น” ต้องใช้พลังงาน แต่นั่นก็เป็นวิธีการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถนอมอาหารและเราทุกคนต้องพึ่งพามันโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นความท้าทายสำหรับผู้ค้าปลีกอาหารคือการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารโดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด นี่เป็นความสมดุลที่ยากยิ่ง เพราะต้องก้าวผ่านการจัดการพลังงานแบบดั้งเดิมและการตรวจสอบด้วยระบบแมนนวล ไปสู่การนำเทคโนยีการตรวจสอบด้วย IoT ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำงานได้อย่างราบรื่น และใช้พลังงานน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็ลดการสูญเสียอาหารลงได้เช่นกัน

การตรวจสอบด้วย IoT ช่วยลดการสูญเสียอาหาร และการสิ้นเปลืองพลังงาน

เทคโนโลยี IoT ช่วยตรวจจับสิ่งที่เรามองไม่เห็น และช่วยให้เราสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น ผู้ค้าปลีกอาหารจะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความสมบูรณ์ของร้านค้าของตน ทั้งยังมีความสามารถในการตั้งค่าการควบคุมต่างๆ ตามข้อเสนอแนะที่เซ็นเซอร์รวบรวมและประมวลผลมาให้

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ในฝันที่ไกลตัว เทคโนโลยีนี้มีวางจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน ในความเป็นจริงโซลูชัน IoT ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าให้บริการร้านค้าปลีกอาหารด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่าวิธีการคร่ำคร่า เพราะลดการสูญเสียอาหาร จากการเน่าเสียหรือสิ้นสภาพก่อนเวลาอันควรได้ถึง 40% จากการตรวจสอบอุณหภูมิ ทั้งยังประหยัดพลังงานได้ 30% จากพลังงานสุทธิทั้งหมด

โดยผู้ค้าปลีกอาหารสามารถใช้เซ็นเซอร์อัตโนมัติที่ติดตั้งในร้านค้าเพื่อบันทึกอุณหภูมิของพื้นที่ เตรียมตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงสามารถกำหนดเกณฑ์สำหรับเซ็นเซอร์แต่ละตัว และรับการแจ้งเตือนทุกครั้งที่เข้าใกล้ค่าที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยป้องกันความเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารที่เน่าเสียหรือหมดอายุก่อนกำหนด โดยการทำให้อุณหภูมิในการเก็บรักษาอาหารเหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องสินค้าคงคลังไม่ให้รับความเสียหาย ด้วยการตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่จัดเก็บอาหารยังคงเป็นไปตามอุณหภูมิที่พึงจะเป็น

นอกจาก เทคโนโลยี IoT จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในร้านค้าปลีกอาหาร เพื่อให้อาหารปลอดภัยและลดการสูญเสียแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำพลังงานที่เกิดขึ้นไปใช้ทำความร้อน การระบายอากาศ เครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ

การลดต้นทุนด้านพลังงานและการสูญเสียอาหารไม่เพียงแต่จะสร้างธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยั่งยืนและให้ผลกำไร แต่ยังช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นด้วย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโซลูชัน IoT สามารถทำให้ผู้ค้าปลีกอาหารประหยัดเงินได้ 37 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,136 ล้านบาท) จากการลดปริมาณขยะอาหาร ในขณะที่หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 2 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษประจำปีของประเทศมอลตา)

ร้านค้าปลีกอาหารสามารถติดตามการใช้พลังงานในธุรกิจของตัวเอง และดูว่ามีโอกาสลดการใช้งานที่ใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น Pizza Hut ที่คาดว่าการใช้พลังงานในปี 2018-2022 จะลดลง 18% เนื่องจากการใช้ IoT ซึ่งช่วยประหยัดเงินได้ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.4 ล้านบาท)

การติดตั้งเซ็นเซอร์ในตำแหน่งต่างๆ ภายในร้านอาหาร หรือสาขาต่างๆ เพื่อตรวจสอบความร้อนและเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าจะได้รับอากาศที่ถ่ายเทและอุณหภูมิที่พอเหมาะ ส่วนร้านค้าก็จะไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรพลังงานโดนใช่เหตุด้วย

ให้ความสำคัญกับการระบายความร้อนอย่างยั่งยืน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของทรัพยากร

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ปัจจุบันผู้ค้าปลีกอาหารมีโอกาสในการนำเสนอโซลูชั่นเพื่อแกปัญหาที่ใหญ่ที่สุด 2 ประการ ของโลก ได้แก่ การลดขยะอาหาร และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

IoT ไม่ถูกจำกัดด้วยคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงหรือความพร้อมใช้งานอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีนี้ได้รับการทดสอบ พิสูจน์ และกลายเป็นกระแสหลักแล้ว เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงของโซลูชัน IoT ธุรกิจ องค์กร และผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างกรอบการทำงานที่จะปรับขนาดการใช้งาน IoT และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งสำคัญคือเราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับศักยภาพของ IoT ในการปรับปรุงความปลอดภัยของอาหาร ในขณะที่ลดการสูญเสียอาหารและการใช้พลังงาน ส่งเสริมให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถตรวจพบและแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ปรับปรุงประสิทธิภาพทรัพยากรโดยรวม และความปลอดภัยของอาหาร  รวมถึงใช้ IoT ในสเกลที่เพียงพอที่จะช่วยให้ร้านค้าปลีกอาหารสามารถเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้

กล่าวโดยสรุป IoT สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลที่เน่าเสียง่าย ทำให้มั่นใจได้ว่าอาหารและร้านค้านั้นดีต่อสุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อใช้พลังงานและทรัพยากรอาหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด IoT ช่วยให้เราสามารถลดการปล่อยมลพิษจากสภาพอากาศผ่านเทคโนโลยีที่มีอยู่ ตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีการใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวาง

ที่มา : How data is driving sustainability in food retail

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/14/iot-bigdata-foodwaste-management/