BCG Model จุดเปลี่ยนเกษตร 4.0

Share

Loading

BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ถูกจับตามองอย่างมาก ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา (บีซีจีโมเดล) มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี เป็นวาระแห่งชาติ

ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรและจำนวนประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวนมาก สามารถพัฒนาด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้ โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจีมาใช้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรจากเดิมที่ทำมากได้น้อย มาเป็นการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้ สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้มากขึ้น และยังสอดคล้องกับวาระของโลกที่เน้นเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

BCG Model จะทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมเกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤติระดับโลกแล้ว ยังเป็นเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สมัยก่อนการปลูกอ้อยอาจมีเป้าหมายเพื่อขายให้กับโรงงานน้ำตาลเท่านั้น แต่ในยุคบีซีจีอ้อยที่ปลูกภายใต้สภาวการณ์เหมาะสม ปราศจากสารเคมีจะถูกนำไปทำสารให้ความหวานสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ต้องการลดความอ้วน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยดูดซับผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินในตลาด การนำใบอ้อย ซังข้าว ซึ่งในอดีตต้องทำลายทิ้งมาขายให้กับโรงงานน้ำตาลหรือโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทนหรือไฟฟ้าชีวมวล ช่วยบรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

นอกจากการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างคุ้มค่าแล้ว การนำของเสียอย่างเช่น “ขยะ” กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ BCG Model ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะปีละประมาณ 27.93 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่ปีละ 8 ล้านตัน เหลืออีก 19 ล้านตัน ต้องกำจัดทิ้ง หากคิดตามค่าเฉลี่ยของการกำจัดขยะทั่วไปคือตันละ 400 บาท บวกลบคูณหารออกมา ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะถึง 7,600 ล้านบาทต่อปี

แต่ในปัจจุบันเมื่อเราพยายามนำขยะมาใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี อาทิ การนำมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นการกำจัดขยะที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าการฝังกลบหรือเผาทิ้ง เป็นการให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ลองคิดดูว่าถ้าเราสามารถใช้วัตถุดิบต่างๆเหล่านี้มาผลิตสินค้าได้โดยเหลือของเสียเป็น 0 ซึ่งก็คือไม่มีของเสียเหลือทิ้งเลยนั่นเอง นอกจากจะไม่ก่อมลพิษให้โลกใบนี้แล้ว ยังสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง เพราะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแทนการทำลายทิ้งนั่นเอง

รัฐบาลตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศภายใต้แนวทางดังกล่าวคือ มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลา 5 ปี ประกอบด้วย

1 สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของบีซีจีรวมกันไม่น้อยกว่า 4.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP

2 สร้างงานทั้งระบบได้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน 

3 ลดการใช้ทรัพยากร ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ท้องถิ่นไหนสามารถดำเนิน BCG Model ได้เจริญก้าวหน้า ยังสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวไปพร้อมกัน

ถ้า BCG Model ทำได้จริง อาชีพเกษตรกรจะไม่ใช่แค่ลืมตาอ้าปากได้เท่านั้น แต่จะเป็นอาชีพที่น่าอิจฉาอย่างมากเลยทีเดียว

เป็นเกษตร 4.0 อย่างแท้จริง!

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/14/bcg-model-agricuture/