ยานยนต์ไฟฟ้า อีกความเคลื่อนไหวที่เป็น ‘โอกาสในวิกฤต’

Share

Loading

พลันที่ ‘ประธานาธิบดี โจ ไบเดน’ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนโยบายหลักที่เขาประกาศคือ การกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสและการเดินหน้าลดปัญหาโลกร้อน โดยมุ่งยุติการใช้ ‘ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปของรัฐบาลกลาง’ แทนที่ด้วย ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV ที่ผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา (American-made EVs)

นโยบายการผลิต ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ กำลังเบ่งบานไปทั่วโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลว่า กำลังพิจารณาห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งรถที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2030

ส่วนในยุโรป เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ก็จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ด้วย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทน!

ขณะที่ไทยเราวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2030 การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และเมื่อถึงปี 2040 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์สันดาปแบบเดิม!

ปั๊มน้ำมันตามสองข้างทางในปัจจุบันจึงต้องเริ่มปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนไปให้บริการแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแทนการเติมน้ำมัน ผู้ให้บริการรายใหญ่ก็จะไม่ใช่ผู้ประกอบการน้ำมันอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเริ่มปรับโมเดลธุรกิจมาสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า สร้างแพลตฟอร์มบอกแหล่งชาร์จไฟ ขายตู้อัดประจุไฟฟ้า ฯลฯ

ล่าสุด EVLOMO Inc. บริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศแผนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ผ่านบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นในชื่อ บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด โดยร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเครื่องชาร์จไฟความเร็วสูงเป็นพิเศษไปติดตั้งตามสถานีบริการน้ำมันของ PTTOR ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor) ที่จะเริ่มเดือนมีนาคมนี้

มาที่กลุ่มผู้ผลิต แบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าก็เดินหน้าเต็มที่ ยกตัวอย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ เมื่อปี 2561 จัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

มูลค่าการลงทุนเฟสแรกประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อจำหน่ายในเมืองไทยและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ EA

ผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายเห็น ‘โอกาส’ จึงมุ่งสู่ ‘สนามการผลิตใหม่’

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายต่างเดินเข้าสู่สนามการผลิตใหม่กันถ้วนหน้า เห็นได้ชัดจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน, โตโยต้า, มาสด้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, ออดี้, เอ็มจี, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู หรือค่ายที่ไม่ค่อยคุ้นหูอย่าง ฟอมม์, ทาคาโน่, สามมิตร, สกาย เวลล์, ไมน์ ยังไม่นับผู้เล่นรายใหม่ๆ อีกหลายรายที่ไม่เคยผลิตรถยนต์ แต่มองเห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทนี้

การควักกระเป๋ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ของค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง เกรท วอล มอเตอร์ส หรือ GWM ที่ประกาศใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยปักธงสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 80,000 คันต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

ประเด็นนี้จึงแสดงให้เห็นศักยภาพไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนได้ไม่ยาก เพราะไทยเรามีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคอาเซียน และมีบทบาทสำคัญใน Global Value Chain แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่มาแรงอย่างเวียดนามก็ตาม

แต่ด้วยจุดแข็งของไทยที่มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีความพร้อมเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสรรพ ระบบโลจิสติกส์ก็ได้เปรียบเพราะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของอาเซียน แถมมีนิคมฯ และเขตอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และได้รับสิทธิประโยชน์ที่จูงใจอย่างมาก!

“บุคลากร” ต้องพร้อม เราจึงจะเป็น “ฮับ” ยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนได้

ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อซัพพอร์ตยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ที่จัดตั้งคณะทำงานฯ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีภาคเอกชนที่เปิดตัวและสร้างรถยนต์ไฟฟ้าประยุกต์ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

คณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ คณะบุคคลต่างๆ รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ผอ.สถาบันยานยนต์ โดยวางแนวทางความร่วมมือระหว่าง 7 วิทยาลัยอาชีวศึกษา และ 4 มหาวิทยาลัยในพื้นที่อีอีซี ที่ร่วมจัดการเรียนการสอนตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งยังประสานงานกับ สถาบันยานยนต์ และทีมงาน สถาบันยานยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรม (Institute of Electric Vehicles and Innovation : IEVI) เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการกลุ่มอู่ซ่อมรถยนต์ให้มีฐานความรู้ใหม่ ด้วยหลักสูตรที่มีมาตรฐาน มีกระบวนการถ่ายโอนความรู้และทักษะใหม่ เพื่อปั้นบุคลากรทักษะสูงรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความพร้อมในการเป็น “ฮับ” ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน ที่ต้องเร่งเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และขยายโอกาสให้กว้างออกไป เพื่อครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทั้งโลกกำลังเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเรามีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็งและมีคุณภาพที่สุดในอาเซียน!

แต่ถ้าไม่เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ อีก 3-5 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็น ‘เซียงกงแห่งเอเชีย’ ได้ง่ายๆ เพราะ “Speed of CHANGE” ในโลกวันนี้นั้น เร็วและแรงจริง!

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/15/thailand-ev-industry-opportunity/