ย้อนกลับไปราว 1 เดือนก่อน หรือเมื่อ 24 ก.พ. 64 คือวันที่วัคซีนโควิด-19 ลอตแรกเดินทางมาถึงประเทศไทย สร้างความหวังและกำลังใจให้ทุกคนพร้อมสู้วิกฤติกันต่อจนกว่าจะถึงวันที่ทุกอย่างกลับมาปกติ
อย่างไรก็ตาม การแลนดิ้งของวัคซีนรวม 317,000 โดส เป็นเพียงก้าวแรกของภารกิจฟื้นฟูที่ยังมีโจทย์อีกไม่น้อยที่ต้องคอยรับมือกันไปตลอดทาง หนึ่งในนั้นคือการ “เก็บรักษาวัคซีน” ให้คงประสิทธิภาพนับตั้งแต่แรกรับ จวบจนส่งถึงมือโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชน
และเหล่าทีมงานคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเก็บรักษาวัคซีนครั้งนี้ก็คือบริษัทที่ชื่อว่า “เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด”
บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่เติบโตมาจากการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แต่วันนี้พร้อมแล้วที่ขยับตัวเองสู่ก้าวที่ใหญ่กว่าเดิม
เทคโนโลยีปิโตรเลียมกับวัคซีนโควิด
หากให้คนทั่วไปอย่างเราๆ มองหาความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครจะหาคำตอบได้ในเวลาอันสั้น อาจจะถามกลับด้วยซ้ำว่ามันจะไปเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร?
แต่ภายใต้ความไม่น่าจะเป็นไปได้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ “ARV” ผู้เติบโตมากับการผลิตหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม กลับค้นพบจุดเชื่อมโยงดังกล่าว ก่อนจะประยุกต์เอาสิ่งที่มีในมือมาสร้างเป็นนวัตกรรมที่น่าทึ่งครั้งนี้
“เราพยายามมองหาวิธีประยุกต์เอาเทคโนโลยีที่มี เข้าไปตอบโจทย์สังคม” ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปแห่ง ARV เกริ่นกับเรา ก่อนจะเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทเข้าไปมีบทบาทในเหตุการณ์บ้านเมือง
หากย้อนไปเมื่อราวสามปีก่อน เหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าคือเคสแรกๆ ที่ ARV ได้มีโอกาสนำนวัตกรรมของตนเข้าไปให้ความสนับสนุน มีการส่งทั้งหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำ และอากาศยานไร้คนขับเพื่อสำรวจช่องทางช่วยเหลือ ต่อเนื่องมาถึงปี 2562 ARV ก็ยังมีโอกาสสำคัญเป็นผู้นำทีมโดรนแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ดังที่เราคงจำกันได้ว่ามีความซับซ้อนและตระการตาเพียงไหน
กระทั่งในปีที่ผ่านมาในช่วงโควิดระลอกแรก ARV ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ปตท.สผ. ที่ไปช่วยสนับสนุนออกแบบและผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ และกล่องทำหัตถการแรงดันลบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ดังนั้นในแง่ประสบการณ์ กล่าวได้ว่า ARV ค่อนข้างมีความพร้อมอย่างมาก หลังจากได้มีการติดต่อประสานงานกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้น ดร.ธนา จึงมองว่าเทคโนโลยีที่ตนมี สามารถจะตอบโจทย์ในครั้งนี้ได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการเลือกประยุกต์เทคโนโลยีการสำรวจปิโตรเลียม ที่เรียกว่า การเก็บข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนแบบไร้สาย (Wireless seismic survey) ที่ใช้ในการศึกษาลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของชั้นหิน โดยเปลี่ยนเซนเซอร์ที่ใช้วัดคลื่นสะท้อน มาเป็นเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาวัคซีน พัฒนาจนกลายมาเป็นอุปกรณ์ “IoT Cold Chain” หรือชื่อเต็มก็คือ “ชุดอุปกรณ์พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็น”
เรียบง่าย พร้อมใช้ เปิดโอกาสให้นำไปประยุกต์
เมื่อเราได้ยินว่าอุปกรณ์ IoT Cold Chain คือการประยุกต์มาจากเทคโนโลยีสำรวจปิโตรเลียม สิ่งแรกที่เราคิดคือมันน่าจะเข้าใจได้ยาก แต่ทีม ARV กลับมีความสามารถในการออกแบบ โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ในส่วนนี้ คุณณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ หนึ่งในทีมวิศวกรผู้ออกแบบ อธิบายให้เราฟังถึงความง่ายในการใช้งาน เพียงเสียบปลั๊กแล้วทำตามขั้นตอนเพียงเล็กน้อย
ตัวอุปกรณ์ IoT Cold Chain จะมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ วิธีการใช้งานก็แค่นำไปติดที่ตู้เย็นซึ่งใช้เก็บรักษาวัคซีน จากนั้นเสียบสายสำหรับวัดอุณหภูมิเข้าไปภายใน แล้วนำใส่ไว้ในขวดกลีเซอรีนเพื่อลดความผันผวนของอุณหภูมิ แค่นี้ระบบจะเริ่มทำการตรวจวัดว่าอยู่ในช่วงที่ต้องการหรือไม่ อย่างในกรณีนี้คือระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส จากนั้นอุปกรณ์จะส่งข้อมูลออกมายังมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์
ความพิเศษคือหากมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น ระบบจะส่งสัญญาณเตือนไปที่ผู้ที่ดูแลหน้างาน รวมถึงส่งข้อมูลเข้าทาง แอปพลิเคชัน Line ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะแพทย์หรือพยาบาล รวมถึงจะแสดงที่ระบบ Dashboard ส่วนกลางซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ทุกชิ้นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถตรวจเช็กได้ทันทีจากส่วนกลาง เหล่านี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าวิธีการตรวจวัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งยังมีความล่าช้าในการแจ้งเตือนข้อมูล และอาจทำให้มีปัญหากับการเก็บรักษาวัคซีนที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษเช่นในเคสของโควิด
คุณณรงค์ชัย เสริมอีกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ทีม ARV ไม่ได้มองว่าจะใช้งานได้แค่การตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยแนวคิดที่ว่ามันถูกประยุกต์มาจากการปรับเปลี่ยนเซนเซอร์ จึงทำให้วิธีการใช้งานเปิดกว้าง ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการวัดความชื้น หรือวัดคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล ก็สามารถทำได้ หลักการออกแบบอุปกรณ์ในเบื้องต้นจึงเน้นที่ความยืดหยุ่น เพื่อที่ทางโรงพยาบาลจะได้นำไปต่อยอดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนเซนเซอร์ หรือพัฒนาระบบต่อ โดย ARV ก็จะสนับสนุนทั้งในด้านการฝึกอบรมให้โรงพยาบาล รวมถึงการเปิดกว้างตัวอุปกรณ์เป็น Open Source
พร้อมโตในวงการ ตอบโจทย์ทุกความต้องการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
“เราพร้อมผลิต Mass Production” คุณภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ อีกหนึ่งในทีมวิศวกรตอบกับเราหลังถามถึงประเด็นความพร้อมในการรองรับวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาอีกหลายล้านโดส
คุณภัคชนม์ ยอมรับว่าการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากคืออีกหนึ่งความท้าทายของ ARV เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีพร้อมใช้ มีเวิร์กช็อปภายในบริษัทที่ทำให้สร้างตัวต้นแบบได้อย่างรวดเร็ว แต่ในเคสโควิด มีโจทย์สำคัญคือจำนวนและความเร็ว อย่างไรก็ตาม หลังมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทราบถึงแผนการต่างๆ ทางบริษัทเองก็มีการเตรียมพร้อมทั้งการติดต่อโรงงาน และสั่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จนสามารถประกอบให้เรียบร้อยได้ทันที
นอกจากนี้ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทำให้ ARV พร้อมผลิตหุ่นยนต์สำหรับการใช้งานด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ในด้านสาธารณสุข ARV ยังมีการผลิตหุ่นยนต์ติดตั้งหลอด UVC สำหรับใช้ฆ่าเชื้อที่อาจติดตามพื้นผิว ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถโปรแกรมแผนการวิ่งได้คล้ายกับตัวโรบอทดูดฝุ่น สามารถนำไปใช้ฆ่าเชื้อหลัง State Quarantine นอกจากนั้นยังมีหุ่นยนต์ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา เช่น เตียงในห้องไอซียูเพื่อช่วยผู้ป่วยพลิกตัว รวมไปถึงแขนกลในห้องผ่าตัด เพื่อช่วยในเรื่องการส่องกล้องหรือการจัดท่าทางให้แพทย์ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น
ดร.ธนา เล่าต่อว่า แม้ ARV จะเติบโตมาจาก ปตท.สผ. แต่บทบาทขององค์กรจะไม่ใช่แค่การผลิตหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนภายในกลุ่มบริษัทเท่านั้น นอกเหนือจากด้านสาธารณสุขแล้ว ARV มีธุรกิจในมืออีก 3 กลุ่มที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ ธุรกิจ Sub-Sea หรือการนำเอาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในพื้นน้ำหรือภาคพื้นทะเล ซึ่งมีความต้องการใช้งานอยู่แล้วจากภายใน ปตท.สผ. และในกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้สำรวจ ตรวจสอบ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ใต้ทะเล ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยจากเดิมที่ต้องใช้นักดำน้ำในการปฏิบัติงานดังกล่าวที่มีความเสี่ยง และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาได้อีกด้วย
ธุรกิจอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนานำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาผนวกกับ Machine Learning และ Data Analytics เพื่อช่วยเรื่องของการตรวจสอบอุปกรณ์ที่อยู่ในที่สูง ซึ่งในส่วนนี้ จะมีกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติค่อนข้างเยอะ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี
ธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ โดยธุรกิจส่วนนี้ ได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโดรนเกษตรและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นสนับสนุนการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยตั้งแต่กระบวนการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำ และกำจัดศัตรูพืช รวมทั้ง เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ประมวลผล เพิ่มประสิทธิภาพให้กับแปลงเกษตร
เทคโนโลยีกับคนไทย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
หลังจากได้พูดคุยกันมาถึงจุดนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ “ศักยภาพ” ของทีมงาน ARV ที่พร้อมทำให้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยกับการพัฒนานวัตกรรมขึ้นเอง ไม่ใช่เพียงความฝันอีกต่อไป โดย ดร.ธนา ยังเผยแนวคิดให้เราฟังอีกว่า
“ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีไม่ได้อยากจะมองว่ามันไกลตัว เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว ในทุกประเทศ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ อาจจะช้าบ้างเร็วบ้าง แต่เทคโนโลยีก็ต้องมา”
แม่ทัพแห่ง ARV มองว่าในส่วนนี้เรามีอยู่สองทางเลือก หนึ่งคือการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศด้วยการซื้อเขามาใช้ หรือจะเลือกพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีบางอย่างเองเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งในมุมของ ARV มองว่าอย่างหลังน่าจะยั่งยืนกว่า
นอกจากนี้ ผลพวงจากการเริ่มต้นพัฒนาจะส่งต่อสู่ข้อดีหลายประการ อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถให้บุคลากรภายในประเทศ รวมถึงการสร้างงานสร้างรายได้ และลดการพึ่งพาต่างประเทศ ซึ่งมันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในบริบทของการเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. ARV จึงมีองค์ประกอบที่ค่อนข้างครบ มีทั้งคนที่มีแพสชัน มีความสามารถสูง และ ภายใต้ ปตท.สผ. ทำให้มีเครือข่ายตลอดทั้ง Value Chain ในเรื่องของคู่ค้า พันธมิตร และซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่ค่อนข้างจะแข็งแรง รวมไปถึงมีสถานที่และโจทย์ให้ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นในสถานการณ์จริง เหล่านี้บริษัทจึงเชื่อว่าจะทำให้สามารถก้าวไปเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและการวิจัยที่แข็งแกร่ง และพร้อมที่จะยกระดับองค์ความรู้ให้สังคมโดยรวม
“ผมเชื่อว่าสุดท้าย คนกับหุ่นยนต์จะอยู่ร่วมกันได้” ดร.ธนา กล่าวกับเรา เพื่อตอบคำถามสุดท้ายที่หลายคนน่าจะสนใจเช่นกัน กับประเด็นว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์หรือไม่
“ผมมองว่าอย่างไรหุ่นยนต์ก็จะเข้ามาอยู่ดี แต่มุมของ ARV เชื่อว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ในงานบางประเภทเท่านั้น เช่นงานที่มีความเสี่ยงสูง อย่างการซ่อมท่อใต้ทะเล รวมไปถึงภารกิจอันตรายต่างๆ ที่หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยทุ่นแรง และเพิ่มประสิทธิภาพงานให้มนุษย์”
ด้วยความมุ่งมั่นและความรู้ความสามารถของทีมงาน ARV รวมถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร เราจึงไม่แปลกใจนักว่าเหตุใดภารกิจสำคัญเช่นการออกแบบอุปกรณ์เพื่อช่วยสนับสนุนงานด้านวัคซีนโควิดจึงมีชื่อของบริษัทนี้ร่วมอยู่ด้วย ในขณะเดียวกัน ยังทำให้เราเชื่อมั่นอีกด้วยว่า ในอนาคตอีกไม่ไกล ไทยจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล