นักวิชาการญี่ปุ่น ชี้ “เทคโนโลยีรถบัสไฟฟ้าของญี่ปุ่น ล้าหลังกว่าของจีนอย่างน้อย 10 ปี”

Share

Loading

คำกล่าวที่ว่าจีนนำหน้าอยู่ 10 ปี ในการผลิตรถบัสไฟฟ้านั้น มาจากปรากฏการณ์การรุกตลาดญี่ปุ่นของแบรนด์ 比亚迪 (ปี่-ย่าตี๋) หรือ BYD ผู้ผลิตรถบัสชั้นนำของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่บุกข้ามทะเลมาครองใจผู้บริษัทคู่ค้าและผู้โดยสารชาวญี่ปุ่นตลอดหลายปีหลัง

ล่าสุดบริษัท “เคย์ฮัน” (京阪バス) เพิ่งจะเซ็นสัญญานำรถพลังงานไฟฟ้า BYD รุ่น J6 เข้ามาทดลองวิ่งเส้นทางในเมือง “เกียวโต” 京都 เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น ถ้าระยะทดสอบผ่านพ้นไป นี่จะเป็นเส้นทางการเดินรถเส้นแรกของญี่ปุ่น ที่ใช้รถพลังงานไฟฟ้าทั้งสายบริการประชาชน

นายซูซูกิ ประธานบริษัทเคย์ฮันชื่นชมคุณภาพของ BYD อย่างน่าสนใจ…“เดิมทีเรื่องของการทำกำไรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมักจะสวนทางกัน แต่รถของจีนรุ่นนี้ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว”

“แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง ทำให้รถวิ่งได้ดี บริษัทดำเนินการได้อย่างคุ้มค่า และแน่นอนว่ารถไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว” นักวิชาการญี่ปุ่นต่างออกมาส่งเสียงเตือนผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเคยสร้างชื่อเสียงในเวทีโลก ว่าให้เร่งพัฒนาสินค้ามาเพิ่มการแข่งขันกับจีน

ขณะที่สื่อแดนอาทิตย์อุทัยนำเสนอเรื่อง “ความเชื่องช้า” ในเชิงระบบ ทำให้การปฏิวัติการใช้งานรถยนต์พลังงานน้ำมัน สู่ยุครถไฟฟ้าของญี่ปุ่นทำได้ช้ากว่าจีนมาก และหากนับเฉพาะการผลิตรถบัสไฟฟ้า ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นล้าหลังจีนอยู่ 10 ปีได้แล้ว ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ แทบจะไม่มีแบรนด์ต่างชาติ เข้าไปแตะต้องตลาดภายในประเทศของญี่ปุ่นได้เลย

กรณีการรุกตลาดรถบัสโดย BYD ตั้งแต่ปี 2015 จึงถือว่าน่าสนใจ พวกเขาเริ่มต้นในเมืองท่องเที่ยว ที่นำเทรนด์ด้านการอนุรักษ์อย่างเกียวโต ก่อนจะขยายการขายรถบัสพลังงานไฟฟ้าไปยังเมืองสโลว์ไลฟ์อื่น ๆ อาทิ โอกินาว่า (冲绳) , ฟูกุชิม่า (福岛) และ ชิบะ ( 千叶) เป็นต้น

นักท่องเที่ยวไทยอาจจะเคยนั่งรถบัสจีนบนแผ่นดินญี่ปุ่นมาแล้วโดยไม่รู้ตัว ที่สนามบิน “ฮาเนดะ” กรุงโตเกียว หรือแม้แต่ที่อุทยานแห่งชาติโอเซะ (尾濑国立公园) และสวนสัตว์อุเอโนะ (上野动物园)

“คุณสมบัติของรถบัส BYD รุ่น K9 ที่ถูกใจบริษัทญี่ปุ่น
จนต้องเลือกไปใช้งานคือความอึดของแบตเตอรี่”

  • ชาร์จไฟ 1 รอบ วิ่งได้ 250 กิโลเมตร คือสามารถครอบคลุมการบริการได้ตลอดวัน
  • ไม่มีมลพิษใดถูกปล่อยออกมาแล้ว การตั้งแท่นชาร์จยังใช้ต้นทุนที่ต่ำมาก
  • เครื่องวิ่งนิ่มเงียบ ไร้แรงสั่นสะเทือน ช่วยตอบโจทย์ด้านสุนทรียภาพของนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะเริ่มต้น 5-6 ปี ในการตีตลาดญี่ปุ่น BYD จะเปิดตัวได้ค่อนข้างดี แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ด้าน เช่น ความอนุรักษ์นิยม หรือการแข่งขันจากแบรนด์ญี่ปุ่น ที่คาดว่าน่าจะพุ่งสูงขึ้นมา ทำให้ BYD ไม่กล้าประเมินตัวเลขและคาดหวังจนสูงเกินไปนัก พวกเขายังคงมุ่งมั่นผลิตรถบัสพลังงานไฟฟ้าป้อนตลาดในประเทศจีน รวมถึงลูกค้าในชาติอื่น ๆ ส่วนในญี่ปุ่นวางเป้าหมายภายในปี 2030 หรือภายใน 9 ปีจากนี้ ขอขายให้ได้ 4,000 คัน ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ที่มา
陶式防务评论
www.facebook.com/thaichinesetalk