3 ประสานดัน “อีอีซี” สู่สังคมไร้คาร์บอน

Share

Loading

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อให้อีอีซีก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในภูมิภาค

โดยที่ประชุม กบอ. รับทราบแนวทางการชักจูงและผลักดันให้เกิดการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่อีอีซี ปี 2564 – 2569 ให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 10 หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2569 (เทียบฐานปี 2564) ด้วย 3 มาตรการสำคัญคือ

มาตรการที่ 1 ด้านการลงทุน กำหนด 2 กลุ่มเป้าหมายส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วย

กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเดิม ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น ปรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล นำระบบดิจิทัลและออโตเมชั่นมาใช้เพื่อลดทรัพยากรในการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ลดการสูญเสียพลังงาน เปลี่ยนการจัดการทรัพยากรในการผลิต เพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิล จัดการของเสียแบบครบวงจร

กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ภาคการผลิตทั่วไป ลงทุนสายการผลิตที่นำระบบดิจิทัล ออโตเมชั่น ระบบการจัดการสินค้าหลังการใช้งาน ภาคกิจการ/บริการเทคโนโลยีต้นน้ำ ขยายการลงทุนการบริการด้านเทคโนโลยี ใช้วัสดุทดแทนลดการใช้ทรัพยากรต้นทุน พร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ร้อยละ 40

มาตรการที่ 2 ด้านพลังงาน ปัจจุบัน อีอีซี ได้ผลักดัน BCG Model แล้วหลายโครงการ เช่น โครงการจัดหาพลังงานสะอาดในพื้นที่อีอีซี จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 30% ของความต้องการไฟฟ้ารวมในพื้นที่อีอีซี ระยะแรกจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์

โครงการพัฒนา EV city บ้านฉาง ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในที่พักอาศัย สถานีบริการ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งภายในปี 2564 นำร่องสถานีแบบ Off grid 30 แห่ง On grid 500 แห่ง และในปี 2565 จะขยายได้อีก 500 แห่ง สนับสนุนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ออกแบบระบบวางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตสู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ มุ่งสู่การเป็น Zero Carbon City

มาตรการที่ 3 ด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (ระยองโมเดล) จะแล้วเสร็จในปี 2564 รองรับขยะได้ 500 ตัน/วัน และผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งอนาคตจะขยายการผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 6 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัดอีอีซี ซึ่งจะกำจัดขยะรายวันและสะสมได้สูงถึง 6,000 ตัน/วันและผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์ เป้าหมายการทำงานทั้งหมดเพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมไม่สร้างของเสีย หรือ Circular Economy ประกอบด้วยการพัฒนาต้นแบบกำจัดขยะครบวงจร ขยะเกิดใหม่ และขยะสะสมในพื้นที่ต้องหมดไปใน 12 ปี​

แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนอีอีซี แต่ความรับผิดชอบต่อสังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากสามารถสร้างเม็ดด้านการลงทุนได้พร้อมกับการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือสังคมไร้คาร์บอนได้ นั่นคือความสำเร็จที่แท้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/13/eec-net-zero-emission/