จาก Telemedicine สู่ยุค ‘Healthcare Platform’ ดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์ มาแรงแห่งยุค

Share

Loading

อย่างที่ทราบกันดีว่าวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่กับพวกเราทุกคนมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีครึ่ง และยังจะอยู่กับพวกเราต่อจนกว่าผู้คนในโลกจะได้รับวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายนี้ขึ้นมาได้ ทว่า ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตนี่เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เกิดการปรับตัว ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมหลากหลาย เพื่อให้ผู้คนยังมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่เหมาะสมกับยุคที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ คือ Telemedicine หรือโทรเวชกรรม นวัตกรรมการรักษาที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ส่งผลช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และช่วยลดการติดเชื้อจากสถานพยาบาลอย่างได้ผล

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เทคโนโลยี Telemedicine ได้รับการนำมาปรับใช้เป็นตัวช่วยทางการแพทย์อีกครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงตอนนี้ ที่ถูกยกระดับสู่แพลตฟอร์มทางการแพทย์ที่ล้ำกว่าเดิม นั่นคือ Healthcare Platform ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ได้มากขึ้นอีก

ได้เวลาเปลี่ยนผ่าน จากยุค Telemed เข้าสู่ยุค Healthcare Platform

การพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ดังที่ได้กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าจะให้คิดถึงบุคคลที่เป็นอีกหนึ่งไอคอนของผู้บริหาร ซึ่งตระหนักดีถึงความจริงข้อนี้ จึงไม่เคยหยุดพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มานำเสนอให้ชาวไทยได้ใช้งานกัน ในรายชื่อนั้นต้องมี สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA อยู่อย่างแน่นอน

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

โดยในวันนี้ สมโภชน์ อาหุนัย ได้ประกาศถึงความร่วมมือล่าสุด กับการเดินหน้าสร้าง Healthcare Platform ซึ่งเป็นการยกระดับเทคโนโลยี Telemedicine ด้วยการออกแบบระบบที่ทุกสหวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุขไทยจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมอบการบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้นั่นเอง ซึ่งการคิดค้นระบบนี้มาจากแรงบันดาลใจส่วนตัวของ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA นั่นเอง

“ช่วงที่ผ่านมาผมสูญเสียบุคคลใกล้ชิดท่านหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐอยู่หลายแห่ง ผมจึงมีโอกาสได้เข้าออกโรงพยาบาลรัฐอยู่หลายครั้งและหลายที่ ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ และความแตกต่างในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของรัฐ”

“นี่เองเป็นจุดที่ทำให้ผมเกิดความคิดว่าในฐานะที่เราเป็นคนสายวิศวะ มีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ไม่ควรอยู่เฉย และควรทำทุกทางเพื่อช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้นด้วยความรู้ความสามารถที่มี นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราเริ่มต้นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อแก้ Pain point นี้”

ทั้งนี้ สมโภชน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดการกับจุดอ่อนทางการแพทย์นี้ แนวทางการใช้ Telemedicine ก็ตอบโจทย์ได้เพียงระดับหนึ่ง และหลังจากได้ลงมือศึกษา ทำการบ้านและพูดคุยกับผู้คนในวิชาชีพด้านสุขภาพมากมาย ทำให้นักเทคโนโลยีที่อยู่ในฐานะซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทยนี้ ได้ให้กำเนิด Healthcare Platform พร้อมกับก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพน้องใหม่ในชื่อ Health Companion ซึ่งเขาเองรับหน้าที่คุมบังเหียน ในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารสตาร์ทอัพน้องใหม่นี้เอง

เจาะลึกกลยุทธ์ ส่ง Healthcare Platform ขึ้นแท่นบริษัท Health Tech เลือดใหม่ของไทย

เมื่อถามถึงโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพเฮลธ์เทคนี้ว่าจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไร จึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการให้บริการทางการแพทย์ได้จริง อำนาจ สุกาญจนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Health Companion เล่าว่า

“ในวันนี้การจะทำดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาสักอันถือว่าไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือมันตอบโจทย์การใช้งานจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล ดังนั้น การดำเนินงานอย่างมีกลยุทธ์เป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

“โดยในช่วงต้นของการดำเนินงาน เราเน้นการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทั้งแพทย์ เภสัชกร Lab หรือห้องปฏิบัติการ หน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน และอีกมากมาย เพื่อมาร่วมกำหนดแนวทาง และให้ Know-how ในการออกแบบระบบที่ทุกวิชาชีพจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งต่อการบริการที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยได้”

“ระบบที่เรากำลังออกแบบอยู่นี้จะมีหลายวิชาชีพ หลายโรงพยาบาล หลายหน่วยงาน เข้ามาร่วมมือกัน โดยยึดหลักสำคัญสูงสุดคือ Patient Centric หรือการมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าเริ่มเห็นแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปี 2564 นี้”

คว้าพันธมิตรธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ Healthcare Platform เติบโตอย่างมีทิศทางที่เหมาะสม

ในยุคนี้ นอกจากจะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ช่วยบุกเบิกในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้แล้ว การสร้างเครือข่าย จับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ธุรกิจก่อร่างสร้างขึ้นมาได้อย่างเป็นนรูปธรรมด้วย ด้วยเหตุนี้ Health Companion จึงเริ่มต้นดำเนินงานตามแผนด้วยการคว้าเอาสองหน่วยงานชั้นนำอย่าง CUPE หรือ CU Pharmacy Enterprise บริษัทสตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ PROLAB หรือ บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด มาร่วมสร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญครั้งนี้ด้วย

โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU – Memorandum of Understanding) โครงการแอปพลิเคชั่นบริการสาธารณสุขและระบบส่งเสริมสุขภาพ ไปเรียบร้อยแล้ว

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานบอร์ด ซียูฟาร์มาซี เอ็นเทอร์ไพรส์ (CU Pharmacy Enterprise) หรือ CUPE กล่าวว่า

“ปัจจุบันทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้บ่มเพาะเภสัชกรเข้าสู่ระบบประมาณ 150 คนต่อปี ตอบโจทย์ทั้งในด้านอุตสาหกรรมนวัตกรรมยา ด้านการดูแลสุขภาพและการใช้ยาประชาชนรวมทั้งผู้ป่วย และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค”

“หากมองในแง่กรอบอัตรากำลังภาครัฐที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน และกำลังการผลิตของภาคการศึกษาซึ่งแต่ละปีมีอัตรากำลังเภสัชกรจบใหม่ทั่วทั้งประเทศราว 1,700 คนเข้าสู่ตลาด ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ขาดแคลน แต่หากพิจารณาจากความต้องการที่ควรจะเป็นโดยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำเป็นต้องมีเภสัชกรดูแลการใช้ยาให้แก่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและเพียงพอ จะพบว่าภาครัฐยังต้องการเภสัชกรเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันอีกเท่าตัว”

“ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากบทบาทของเภสัชกรในปัจจุบันพัฒนาไปมาก และช่วยดูแลการใช้ยา ช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงจ่ายยาในโรงพยาบาล หรือร้านยา เพราะเภสัชกรยุคนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนได้ในรูปแบบการทำงานเชิงรุกในบทบาทเภสัชกรครอบครัว หรือ Family Pharmacist ได้ด้วย”

“เภสัชกรจะทำหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาการใช้ยาประจำตัว ครอบครัว หรือชุมชน หนึ่งในกิจกรรมคือการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่สร้างความใกล้ชิด ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และเป็นที่พึ่งและที่ปรึกษาให้กับประชาชนในเรื่องการใช้ยา”

สิ่งที่กล่าวมานี้คาดว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญในอนาคต และเมื่อวันนั้นมาถึง แน่นอนว่าเภสัชกรที่มีอยู่ทั่วประเทศย่อมไม่เพียงพอ แต่หากเรามีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เภสัชกรได้พบปะกับผู้ป่วย ครอบครัวหรือชุมชนได้ง่ายขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของการเยี่ยมบ้าน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากรลงได้ ขณะเดียวเพิ่มการเข้าถึงบริการทางเภสัชกรรมได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงแน่นอน”

นอกจากแพลตฟอร์ม Healthcare ที่ Health Companion สร้างขึ้น จะมีพันธมิตรด้านเภสัช ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับประเทศ อย่าง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว ยังต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ไปยังธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ PROLAB หรือ บริษัท โปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด ซึ่งในวงการนี้ถือได้ว่าเป็นบิ๊กเนม ด้วยชื่อเสียงยาวนานมากกว่า 20 ปี ยิ่งในตอนนี้ ก็เนื้อหอมเป็นพิเศษเพราะต้องต่อสู้และต้องงัดข้อกับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง

นิตยา โฉมงาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROLAB กล่าวว่า

“ช่วงวิกฤตโควิด-19 นับได้ว่าเป็นช่วงที่เรางานหนัก เพราะมีความต้องการใช้บริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวนมาก และเราได้ริเริ่มการบริการแบบเดลิเวอรี่ มีการเข้าไปเก็บตัวอย่างถึงที่บ้าน ขนส่งด้วยแมสเซ็นเจอร์ภายใต้การควบคุมมายังแล็บ”

“รวมถึงที่ผ่านมาเราให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยอาศัยการติดต่อทางโทรศัพท์เป็นหลัก แต่เราเชื่อว่าการให้บริการตรวจแล็บแบบเดลิเวอรี่จะมีประสิทธิภาพขึ้นมาก หากมีแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างห้องปฏิบัติการ กับบุคลากรทางการรักษา ที่ทำให้การตรวจแต่ละอย่างจะได้มีความเฉพาะเจาะจงต่อการรักษามากขึ้น หรือมีการตรวจตามข้อสันนิษฐานของแพทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพจริงๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลหรือแล็บด้วยตนเอง”

“นอกจากนั้น เรายังได้รับการติดต่อความร่วมมือทางธุรกิจจากหลายบริษัทในต่างประเทศ ที่ต้องการหาโลคัลพาร์ทเนอร์ในการสร้างแพลตฟอร์ม ทำให้พบว่าแต้มต่อที่สำคัญในธุรกิจที่เรามีคือความเข้าใจตลาดในประเทศไทยและมีราคาที่ไม่สูงมากหากเทียบกับบริการในต่างประเทศ”

แต่ที่ผ่านมาเราก็ยังไม่เคยเจอแนวคิดใดที่ตรงกับความคาดหวังของเราเหมือนอย่าง Health Companion ที่ต้องการประสานการทำงานของทุกวิชาชีพในสายงาน เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและประชาชน ในโอกาสนี้เราจึงยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้านเพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริง”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์ม Healthcare และบริษัทสตาร์ทอัพ Health Companion นี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหวัง ที่แม้จะเป็นก้าวย่างเริ่มต้นที่เล็กๆ แต่พร้อมจะก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น จากการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วยมันสมองและสองมือของคนไทยอย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/01/from-telemedicine-to-healthcare-platform/