รู้จัก ‘หุ่นยนต์ AVATAR’ หุ่นยนต์บังคับระยะไกลรับความเสี่ยงแทนมนุษย์ ผ่านการศึกษาและสร้างจริงของ FIBO

Share

Loading

การเกิดขึ้นของ วิกฤตโควิด-19 ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในภาวะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นคือ มีความกังวลที่จะออกไปใช้ชีวิต ไปทำงาน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะกลัวการติดเชื้อ จนกระทั่งความกังวลนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันของเหล่านวัตกรที่จะคิดค้นว่า เทคโนโลยีใดจะสามารถช่วยให้มนุษย์ทำกิจกรรม ทำการงานได้ โดยก้าวผ่านขีดจำกัดทางด้านร่างกายของมนุษย์ในช่วงที่วิกฤตโรคระบาดยังไม่ผ่านพ้นไป และยังสามารถคงความเป็นมนุษย์ คือ การใช้ทักษะที่ตนเองเชี่ยวชาญอยู่ได้ จากการตั้งคำถาม นำมาสู่การหาคำตอบและหาทางออก หรือ Solutions ด้วยการนำหลักการออกแบบ หุ่นยนต์ AVATAR

หุ่นยนต์ตัวนี้มีแรงบันดาลใจตามชื่อมาจากภาพยนตร์เรื่อง AVATAR ที่พระเอกอยู่ที่หนึ่ง แล้วสามารถควบคุมร่างกายที่อยู่ในอีกที่หนึ่งได้ นี่ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์ แต่เกิดขึ้นได้จริงด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ล้ำสมัยในยุคนี้

‘หุ่นยนต์ AVATAR’ หุ่นยนต์บังคับระยะไกลรับความเสี่ยงแทนมนุษย์ มีดีตรงไหน

อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการทำงานของ หุ่นยนต์ AVATAR ว่า

“หลักการทำงานของหุ่นยนต์ AVATAR คือ มีผู้ควบคุมหุ่นยนต์ เป็น Operator อยู่ที่หนึ่ง ส่วนหุ่นยนต์ AVATAR ก็อยู่ในอีกที่หนึ่ง และผู้ที่เป็น Operator สามารถควบคุมหุ่นยนต์ระยะไกลได้ อะไรก็ตามที่หุ่นยนต์เห็น ผู้ที่เป็น operator ก็จะเห็นด้วย อะไรก็ตามที่ AVATAR ได้ยิน ผู้ควบคุมก็จะได้ยิน”

อาจารย์บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ.

“หุ่นยนต์ AVATAR นี้ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์แทนผู้ควบคุมผ่านหุ่นยนต์ ไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งที่กำลังมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ได้ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ บุคคลที่ปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์จะได้รับประสบการณ์เหมือนว่าเขาทำงานกับมนุษย์จริงๆ”

ด้วยประสิทธิภาพที่พิจารณาแล้วว่าสามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคนี้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องลดความเสี่ยงด้วยการเว้นระยะห่างในการปฏิบัติหน้าที่กับผู้ป่วยโควิด-19 หรือแม้แต่ผู้ป่วยทั่วไปเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทำให้ทาง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. ได้บรรจุโปรเจกต์การวิจัยและพัฒนาระบบหุ่นยนต์ระยะไกลสำหรับปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ไว้ใน โครงการ AI Robotics for All

โครงการนี้มีจุดประสงค์หลักในการสร้างความเข้าใจและความตระหนักว่า สิ่งที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนในอนาคตอันใกล้นี้หนีไม่พ้น AI และ หุ่นยนต์ อย่างแน่นอน และสองสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นศัตรูกับมนุษย์ แต่เป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ที่มนุษย์ใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทลายข้อจำกัด ไปอีกขั้นหนึ่ง ดังนั้น ความรู้ ความเข้าใจในด้าน AI และหุ่นยนต์ จะทำให้เราสามารถใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การพัฒนาหุ่นยนต์นี้ มีกำหนดระยะเวลาพัฒนา 4 ปี (2562-2565) โดยจะสนับสนุนให้นักศึกษาได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถทัดเทียม แข่งขันได้ในระดับสากล รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาความเชี่ยวชาญ และการนำมาซึ่งชื่อเสียงและความภาคภูมิใจของประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทีมอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. ได้สร้างชื่อผ่านรอบแรกในการแข่งขันระดับโลก ANA Avatar XPRIZE โดยเป็นทีมเดียวในประเทศไทยและใน South-east Asia จากกว่า 800 ทีมที่สมัครแข่งขัน

การแข่งขัน “ANA Avatar XPRIZE” จัดขึ้นโดยมูลนิธิ XPRIZE ซึ่งหัวข้อการแข่งขันในครั้งนี้คือ ANA Avatar ซึ่งเป็นการพัฒนาหุ่นยนต์ Avatar ที่ผู้ใช้สามารถบังคับใช้งานได้จากระยะไกล มีความสามารถรับรู้สัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส อีกทั้งหุ่นยนต์ต้องมีความสามารถปฏิสัมพันธ์กับคนได้อย่างปลอดภัย สามารถหยิบจับวัตถุ และช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บได้

‘หุ่นยนต์ AVATAR’ ฝีมือนักวิจัย FIBO คือ การรวมทุกเทคโนโลยีล้ำสมัย มาอยู่ในหุ่นยนต์ตัวเดียว

อาจารย์บวรศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าเป้าหมายหลักของงานวิจัยโปรเจกต์การวิจัยและพัฒนาระบบหุ่นยนต์ระยะไกลสำหรับปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์นี้ คือ การสร้างประสบการณ์เสมือนว่าผู้ควบคุมไปอยู่ในที่ที่หุ่นยนต์อยู่จริงๆ

“ทาง FIBO มีความพร้อม เพราะมีประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยในโปรเจ็กต์หุ่นยนต์ที่หลากหลาย เราจึงเอาองค์ความรู้ย่อยๆ จากนักวิจัยในแล็ปต่างๆ มารวมกัน เป็น System Integration มาพัฒนาและออกแบบ AVATAR System ในแบบฉบับของ FIBO”

“ประกอบไปด้วย ระบบหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล (Avatar) ระบบควบคุม (Operator) และหุ่นยนต์ตัวนี้ยังมีเป้าหมายในการขนส่ง (Transport) และถูกออกแบบให้มีความเป็นมนุษย์ (Human Presence) รับคำสั่งจากผู้ควบคุม หรือสถานีควบคุมไปยังสถานที่ที่หุ่นยนต์อยู่ รวมไปถึงผู้ควบคุมก็สามารถรับรู้ สัมผัส ถึงสิ่งแวดล้อมที่หุ่นอยู่ได้ หากเป็นการสื่อสารระยะไกล ทั้ง 2 ฝั่ง (operator และผู้ที่ operator สื่อสาร) จะสามารถสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ เสมือนว่าทั้ง 2 ฝ่ายกำลังคุยอยู่ ณ สถานที่เดียวกันจริงๆ”

“โดยองค์ความรู้ในการสร้าง Robotic นี้ เป็นการรวมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และเป็นเทคโนโลยีระดับ State-of-the-art (Cutting-edge technology) หรือเทคโนโลยีที่ล้ำที่สุดมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบความจริงเสมือน ความจริงเสริมและความจริงผสม (Virtual Reality, Augmented Reality, and Mixed Reality) เทคโนโลยีการสัมผัส (Haptic Feedback), 5G และอื่นๆ”

“จากความสามารถทั้งหมดนี้ทำให้ AVATAR สามารถนำไปใช้ในหลายกรณี เช่น ให้ไปทำงานแทนในสถานที่ที่มนุษย์ไม่ควรเข้าไป นอกจากนี้ สามารถสร้างการกระจายโอกาสจากผู้เชี่ยวชาญสู่สถานที่ต่างๆ เช่น แพทย์เฉพาะทางสามารถรักษาผู้ป่วยห่างไกลได้เสมือนว่าแพทย์ไปอยู่ตรงนั้น หรือสร้างให้เกิดการเรียนรู้ระยะไกล โดยที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ ตราบที่มี AVATAR อยู่ในสถานที่ต่างๆ โดยผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ตรง เสมือนว่าไปเรียนอยู่ ณ สถานที่นั้นจริงๆ”

“ยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้มนุษย์มีข้อจำกัดทางร่างกายอยู่ ดังนั้นถ้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ AVATAR นี้ จึงเป็นประโยชน์ต่อการปลดล็อคขีดจำกัดด้านร่างกาย ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปให้หมดได้จริง”

FIBO ต่อยอดแนวคิด หุ่นยนต์บังคับระยะไกลรับความเสี่ยงแทนมนุษย์ สร้างหุ่นยนต์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO ไฟท์โควิด

ไม่ใช่แค่ การเดินหน้าสร้างต้นแบบ หุ่นยนต์ AVATAR ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ที่ FIBO ให้ความสำคัญ เพราะตั้งแต่การระบาดในระลอกแรก FIBO ก็ได้สร้างหุ่นยนต์ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” ขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ หุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

CARVER-Cab 2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย สามารถบรรจุถาดอาหาร ได้ถึง 20 ถาดในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator

SOFA หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล

Service Robot หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

หุ่นยนต์ทั้งหมดเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาล และในอนาคตจะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวน์ด้วย 5G 26-28 GHz และในปัจจุบัน หุ่นยนต์เหล่านี้ได้กระจายไปปฏิบัติการเพื่อช่วยลดความเสี่ยง แบ่งเบาภาระบุคลากรการแพทย์ทั่วไทยแล้ว

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/05/21/avartar-robot-fibo-kmutt-model/