รู้กันหรือไม่ว่า? การผลิตแสงซินโครตรอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยเชิงลึก หรือเพื่อต่อยอดเป็นสินค้าและบริการต่างๆ ได้นั้น หลากหลายประเทศทั่วโลกเขาก็ให้ความสนใจกันมาก เห็นได้จากการจัดตั้งสถาบันวิจัยซินโครตรอนแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานวิจัยการผลิตแสงซินโครตรอนร่วมกัน รวมไปถึงเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค
ชื่อของ “แสงซินโครตรอน” อาจจะยังไม่คุ้นกับใครหลายๆ คน แต่จริงๆแล้วเทคโนโลยีนี้มีมากว่า 70 ปี ผ่านการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนมาถึง 4 รุ่น ปัจจุบันโลกเรามีเครื่องแสงซินโครตรอน กว่า 50 เครื่อง กระจายอยู่ 20 ประเทศทั่วโลก เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ล่าสุดของโลก มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตอยู่ 2 แบบ แบบแรก เรียกว่า Free electron laser มีหลักการคล้ายกับการเกิดเลเซอร์ แต่ใช้อิเล็กตรอนอิสระเป็นตัวกลางเลเซอร์เคลื่อนที่ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Undulator ทำให้อิเล็กตรอนปลดปล่อยแสงซินโครตรอนที่มีความเข้มสูงมากออกมา เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นนี้ เช่น อยู่ที่ SACLA ประเทศญี่ปุ่น หรือ DESY ประเทศเยอรมันนี เป็นต้น นอกจากนี้ ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนของประเทศสวีเดน หรือ MAX-IV ใช้เทคโนโลยีการผลิตแสงที่เรียกว่า Ultra-Low Emittance Storge Ring ซึ่งก็จัดว่าเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 4 เช่นกัน เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ในแต่ละประเทศจะมีค่าพลังงานตามแต่เทคโนโลยีในแต่ละรุ่น ซึ่งยิ่งพลังงานสูง ก็จะสามารถรองรับงานวิจัยได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในทุกๆปี องค์กรด้านเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคทั่วโลกรวมทั้งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในภูมิภาคต่างๆ จะมีการรวมตัวจัดงานประชุมระดับนานาชาติที่ชื่อว่า International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค นักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 1,500 คนจะมาอัพเดทงานวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เทคโนโลยีแม่เหล็ก เทคโนโลยีสุญญากาศ และเทคโนโลยีระบบควบคุม มีการนำเสนอผลงาน พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และขอคำแนะนำกับผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยต่างชาติ โดยมีการผลัดกันเป็นเจ้าภาพในแต่ปี โดยในปี 2565 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ประเทศไทย ในนามประเทศภูมิภาคเอเชีย เราได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม IPAC2022 ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชน เยาวชนรุ่นใหม่ ได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค และตระหนักถึงประโยชน์ของการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ใกล้จัดงานเมื่อไหร่เราจะมาอัพเดทกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการจัดตั้งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้จากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลก อีกทั้งยังแสดงถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในวงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่แน่ว่าในอนาคตประเทศไทยเราเองก็อาจได้มีโอกาสพัฒนาพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนร่วมกันกับ นานาประเทศแบบไร้ขีดจำกัดยิ่งขึ้น
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/SLRI.THAILAND/photos/a.426656517381698/4179827312064581/