โมเดลต้นแบบระบบบริหารจัดการผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงาน

Share

Loading

จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์คลองเตยส่งผลให้โครงการ O-Nes Tower เป็นอันต้องหยุดชะงักไป และได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80 ล้านบาท เนื่องจากต้องปิดแคมป์คนงานและพักการก่อสร้างเอาไว้ก่อน เพราะตรวจพบแรงงานติดโควิด-19 กว่า 1,900 คน

ล่าสุดโครงการก่อสร้าง O-Nes Tower ในการดูแลของ บริษัท นันทวัน จำกัด ไทยโอบายาชิ ก็ได้ตัดสินใจใช้มาตรการคัดกรองโควิดแบบ 100 % เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในหมู่คนงาน และส่งตัวไปรักษา โดยใช้งบประมาณส่วนตัวกว่า 10 ล้านบาท

นาย อภิสิทธิ์ โรจนประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการ O-Nes Tower กล่าวว่า… “ถ้าหากเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานได้ ก็จะเป็นการช่วยให้ชุมชนภายนอกปลอดภัยมายิ่งขึ้นด้วย ซึ่งวิธีการตรวจแบบคัดกรอง 100% นั้นจะได้ผลดีกว่าการสุ่มตรวจ หรือการปิดแคมป์โดยไม่มีมาตรการอะไร เพราะว่าลักษณะของการติดโควิด-19 ในแคมป์นั้น จะมีลักษณะเป็นวงจรของการแพร่เชื้อ คือการติดเชื้อจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น วันนี้มีคนติดเชื้อ แต่อีกคนอาจจะไปติดเชื้อตอนสิ้นเดือนก็ได้ แล้วมันก็จะกระจายต่อไปอีก ทำให้ควบคุมได้ยาก” จึงเป็นที่มาของการระดมสรรพกำลังตรวจคัดกรองแรงงานทั้งหมด ถ้าใครป่วยก็ส่งตัวไปรักษา หายดีแล้ว เมื่อถึงเวลาที่กำหนดก็ให้ฉีดวัคซีน

โดย บริษัท นันทวัน จำกัด ไทยโอบายาชิ ได้ขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่คลองเตย เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่บริษัทได้ทำการจองเอาไว้กับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 7,400 โดส สำหรับคนงาน 3,700 คน ซึ่งจะได้ฉีดให้กับพนักงานล็อตแรก ในวันที่ 28 มิ.ย. – 1 ก.ค. จำนวน 2,800 คน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,900 คนที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องรอก่อนเป็นเวลา 3 เดือนจึงจะทำการฉีดได้ ซึ่งจากมาตรการนี้ก็พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่างแสดงความยินดีที่ได้รับการฉีดวัคซีน และขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จัดสรรวัคซีนมาให้

ส่วนระบบการฉีดวัคซีนนั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลมเหสักข์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในประกันสังคมของบริษัทเป็นผู้มาทำการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน โดยยึดถือตามระบบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

แม้ว่าการบริหารจัดการวิกฤตครั้งนี้ บริษัท นันทวัน จำกัด ไทยโอบายาชิ จะต้องทุ่มงบประมาณส่วนตัวราว 10 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับความคุ้มค่าแล้ว ก็พบว่า…ถ้าหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าเสียโอกาสต่าง ๆ ค่าอาหาร ค่าเยียวยาแรงงาน ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าเดือนละประมาณ 80 บาท ดังนั้น จึงถือเป็นการบริหารจัดการที่คุมค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป

โดยในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่คลองเตยเอง ก็ได้ลงมาสำรวจและรับทราบปัญหาตลอดจนติดตามดูขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ โดยได้แสดงความชื่นชมในมาตรการต่าง ๆ ที่ทางบริษัทนำมาใช้

ซึ่งมาตรการของ บริษัท นันทวัน จำกัด ไทยโอบายาชิ ยังถือเป็นกรณีศึกษาและเป็นโมเดลต้นแบบในการบริหารจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแคมป์คนงาน ให้กับหน่วยงานภาคเอกชนต่าง ๆ ได้นำเอาเป็นแนวทางของการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย

เรียบเรียงโดย Sicurity Systems Magazine

เครดิตภาพ ข่าว 3 มิติ
www.voice-tv.online