ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง เนรมิตเทศบาลเมืองศรีราชาโฉมใหม่ เทียบชั้น “สิงคโปร์”

Share

Loading

เทศบาลเมืองศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบล เป็นเทศบาลเมืองศรีราชาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2538 มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังคือ “เกาะลอย” ถือเป็นสัญลักษณ์ของเทศบาล สำหรับพื้นที่เทศบาลรวมทั้งสิ้น 4.058 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นดิน 2.153 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นน้ำ 1.905 ตารางกิโลเมตร

ฉัตรชัย ทิมกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เขาก็เคยได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองศรีราชาเมื่อปี 2533 จนถึงปี 2554 รวม 5 สมัย ทำให้รู้รายละเอียดทั้งหมดของพื้นที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตร ชนิดหลับตาก็มองเห็น เคยสร้างผลงานที่โด่งดังอย่าง Little Osaka จำลองบรรยากาศของเมืองให้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเมืองโอซาก้าของญี่ปุ่น จนมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาพักอาศัยจำนวนมาก เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของศรีราชาที่นักท่องเที่ยวต้องแวะไปช้อปปิ้งและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ส่งผลงานเทศบาลเข้าประกวดได้รับรางวัลโล่พระราชทานธรรมาภิบาล อันดับ 1 ของประเทศ ได้รับโล่พระราชทานเกี่ยวกับความสะอาด โล่พระราชทานเกี่ยวกับการศึกษา และอีกหลายรางวัลเกือบทุกหัวข้อที่มีการประกวด

คุณฉัตรชัยกล่าวถึงการพัฒนาเทศบาลเมืองศรีราชาในการกลับมาดำรงตำแหน่งครั้งนี้ว่า นอกจากการปลุกบรรยากาศ Little Osaka ให้กลับมาคึกคักเหมือนในอดีตแล้ว อีกหนึ่งโปรเจ็กต์สำคัญคือการสร้างเทศบาลเมืองศรีราชาให้เป็น “ศรีราชาโฉมใหม่” เนื่องจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา 1-2 ปีทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหายไปพอสมควร สิ่งที่จะทำได้ดีที่สุดในเวลานี้คือการดึงความเชื่อมั่นกลับมา โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ถ้าประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ซึ่งศรีราชาเตรียมความพร้อมไว้พอสมควร มีการจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวน 1.2 หมื่นโดสสำหรับฉีดให้กับประชาชนในส่วนที่วัคซีนของรัฐบาลให้ไม่ถึง มีแนวคิดพัฒนา “เกาะลอย” ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่งมากที่สุด โดยเพิ่มในส่วนของสกายวอล์ค สะพานกระจก ชวนนักท่องเที่ยวมาไหว้เจ้าแม่กวนอิม มาดูเต่าทะเล ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังเขียนแบบอยู่ อีกโครงการหนึ่งคือการจัดทำลานเอ็กซ์ตรีม เพื่อสร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวและคนที่ทำงานในนิคมต่างๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี พัฒนาเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทันสมัย นำสายไฟลงดิน สร้างระบบการสื่อสาร 5G โดยมีงบประมาณพร้อมสำหรับการปรับโฉมเมืองใหม่ ภายในเวลา 1 ปีครึ่งจะเห็นการพลิกโฉมศรีราชาให้กลายเป็นศรีราชาโฉมใหม่เต็มรูปแบบ

“เราจะพัฒนาเกาะลอยโดยเพิ่มสกายวอล์ค มีสวนอนุรักษ์เต่าทะเล มีลานเอ็กซ์ตรีมสำหรับเล่นกีฬาที่ได้รับความนิยม อาทิ สเก็ตบอร์ด มี 3 กรุ๊ป คือ กรุ๊ป 1 เด็กหัดเล่น กรุ๊ป 2 มือสมัครเล่น และ กรุ๊ป 3 มืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันสเก็ตบอร์ดเป็นอะไรที่ฮิตมาก แต่ถ้าเล่นตามถนนก็อันตราย นอกจากเป็นลานเล่นกีฬาแล้วยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง ทำกิจกรรมครอบครัว แค่ผมมีโครงการจะทำสกายวอล์คก็มีบริษัททัวร์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนติดต่อมาว่าจะขอนำทัวร์มาลงวันละ 2,000 คนทุกวัน คาดว่าหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว บรรยากาศในศรีราชาจะกลับมาคึกคักอย่างมาก”  

นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา ยืนยันว่าพลิกโฉมครั้งนี้ เทศบาลเมืองศรีราชามีศักยภาพทำได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเกาะลอย การสร้างอาคารจอดรถบริการนักท่องเที่ยว การนำสายไฟลงดิน หรือการนำระบบ 5G มาให้บริการเต็มพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร

“เทศบาลเมืองศรีราชามีพื้นที่แค่ 4 ตารางกิโลเมตร จัดง่าย ใช้เม็ดเงินไม่มากนัก เราได้งบประมาณปีละ  300 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับบางเทศบาลมีงบประมาณปีละ 1,000 ล้าน แต่มีพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร เทียบสัดส่วนแล้วของผมเยอะกว่า อีกอย่างศรีราชามีเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร ในช่วงก่อนโควิดแม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจบางช่วงและหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจศรีราชายังเติบโตได้ ยกเว้นในช่วงโควิดที่เราได้รับผลกระทบเหมือนกับที่อื่น ประกอบกับเรายังมีเงินเหลือในเทศบาล 1,000 ล้านบาท ก็ตั้งใจว่าจะนำมาใช้สำหรับการพลิกโฉมครั้งนี้ครึ่งหนึ่งคือ 500 ล้านบาท ผมตั้งเป้าจะทำเมืองศรีราชาให้กับมาดีกว่าเดิมภายใน 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง ทำพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตรให้เหมือนกับสิงคโปร์”

แม้เทศบาลเมืองศรีราชาจะมีพื้นที่ไม่มากนัก ประชากรประมาณ 2 หมื่นคน แต่ก็มีพื้นที่ที่ต้องดูแลทั้งบนบก ในทะเล รวมถึงภูเขา ขณะที่การพลิกโฉมใหม่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นความท้าทายไม่น้อย แต่คุณฉัตรชัยบอกว่าไม่หนักใจ

“หัวใจของการพัฒนาเมืองขึ้นอยู่กับเรารู้หรือไม่รู้ ถ้าเราไม่รู้จักสภาพเมืองที่จะมาดูแล แน่นอนว่าจะพบปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ถ้าเรารู้จักสภาพเมืองก็จะมีวิธีบริหารจัดการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ เมื่อตั้งโจทย์ว่าจะสร้างศรีราชาโฉมใหม่ ผมไม่เพียงบอกว่าภาพรวมจะเสร็จภายใน 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง แต่ยังสามารถบอกได้ว่าโครงการไหนจะเสร็จเมื่อไหร่ ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ผมเคยแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะรู้ว่าต้นเหตุว่ามาจากผังเมืองที่ซับซ้อน เราก็ต้องเข้าไปจัดการที่ต้นเหตุ ก็แก้ได้ในเวลาไม่นานมาก เพราะเรารู้ต้นเหตุ แก้ที่ต้นเหตุก็จบ หรือปัญหารถติดผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้นโยบายมาให้ดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ ผมก็ต้องเข้าไปดูที่ต้นเหตุแล้วจัดการแก้ไขให้ได้ ซึ่งการที่เราทำงานการเมืองมานาน ทำให้ได้เปรียบเนื่องจากรู้ปัญหาทั้งหมด”

คุณฉัตรชัยยังกล่าวถึงการนำโครงการ “ซีเนียร์ซิติเซ่นการ์ด” กลับมาใช้กับคนในพื้นที่ว่า

“สมัยก่อนผมทำนวัตกรรมขึ้นมาโครงการหนึ่งชื่อว่า “ซีเนียร์ซิติเซ่นการ์ด” คนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับซีเนียร์ซิติเซ่นการ์ด มีสิทธิพิเศษเมื่อใช้กับร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ขึ้นรถเทศบาลฟรี มีช่องบริการพิเศษเมื่อมาติดต่องานกับเทศบาล ถ้าอายุ 90 ปีจะมีเงินดูแลจากเทศบาลคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ถ้าอายุ 100 ปี 3,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนนี้ใช้งบประมาณไม่ได้ เพราะติดระเบียบปฏิบัติ ผมก็หาเงินจากข้างนอกมาสนับสนุน นอกจากนี้คนที่มีอายุครบ 100 ปี จะมีการจัดพิธีทำขวัญสืบชะตาชีวิต เชิญคนทั้งเมืองมาร่วม ซึ่งผมก็จะฟื้นกลับมา”

เป็นนายกเทศมนตรีที่ไฟแรงจริงๆ!!

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/06/28/sriracha-new-look-2021/