เราทราบกันดีว่า ความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality (VR) เป็นเรื่องสนุก โดยมากแล้วเราใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อความบันเทิง แต่ถ้ามันทำได้มากกว่าความสนุกล่ะ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้า VR สามารถทำให้คุณฉลาดขึ้นได้? นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพิสูจน์ว่าความเป็นจริงเสมือน สามารถกระตุ้นสมองคนเราให้ฉลาดปราดเปรื่องกว่าเดิมได้
หากสมองคือโลก พื้นที่ของสมองก็คือแต่ละประเทศ ดินแดน หรือเขตการปกครอง
ภายในบริเวณสมอง เซลล์ประสาทมักจะสร้าง “รัฐบาล” ที่จัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น เปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual Cortex) มีหลายชั้นที่ค่อยๆ ประมวลผลสิ่งที่เราเห็น คอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex) เป็นเขตต่างๆ ในเปลือกสมองที่มีบทบาทในการสั่งการและควบคุการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแต่ละส่วน ขณะที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส จะประมวลผลความทรงจำว่าขณะนี้เราอยู่ที่ไหน เราจอดรถและวางกุญแจรถไว้ตรงไหน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พื้นที่สมองหลายส่วนมารวมกัน สมองมีเคล็ดลับนั่นคือ “คลื่นไฟฟ้าสมอง” ที่แกว่งไปมาในบริเวณต่างๆ ในฐานะ “นักการทูตด้านประสาท” คลื่นเหล่านี้นำพาข้อมูลจำนวนมหาศาลไปทั่วสมอง ประสานการทำงานของระบบประสาทที่อยู่ห่างกัน โดยคลื่นสมอง 4 ประเภทหลัก ถูกแบ่งออกตามความรวดเร็วของการแกว่งแตกต่างกัน คล้ายกับความถี่ที่คลื่นซัดเข้าหาฝั่งซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่น คลื่นเบต้าจะครอบงำสมองเมื่อคุณมีสมาธิและรู้สึกมีส่วนร่วม คลื่นอัลฟ่าจะฉายแสงเมื่อคุณกำลังนั่งชิลล์บนโซฟาพร้อมกับจิบชาอุ่นๆ เป็นต้น แต่สำหรับนักวิจัยด้านความจำ “คลื่นธีต้า” เป็นหัวใจหลัก นี่เป็นคลื่นที่มีจังหวะค่อนข้างช้า จะจุดประกายในสมองเมื่อคุณกำลังฝันกลางวัน หรือตอนอาบน้ำด้วยจิตใจที่ผ่อนคลาย คลื่นธีต้าซึ่งซัดผ่านฮิปโปแคมปัส กระตุ้นสภาวะในสมองที่มีแนวโน้มว่าจะมีความคิดไหลลื่น สภาวะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการเรียนรู้และจดจำของเรา เป็นความสามารถของสมองในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งคลื่นธีต้ายังทำงานร่วมกับคลื่นสมองอื่นๆ เพื่อช่วยให้เราระลึกถึงความทรงจำส่วนตัว ซึ่งมักสูญหายไปจากโรคอัลไซเมอร์ (สาเหตุที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักจะหลงทาง เพราะการเชื่อมต่อของฮิบโปแคมปัสและเซลล์ประสาทของมันค่อยๆ เสียหายไป)
คลื่นธีต้าจะทำงานเมื่อเราตื่น เพิ่มขึ้นเมื่อเราเดิน และมันจะหายไปเมื่อเราหลับ แต่จะกลับมาใหม่เมื่อเราฝัน ในการศึกษามากกว่า 70,000 ฉบับ พบว่าคลื่นธีต้ามีความสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจ การเรียนรู้ และความจำ และเราจะเห็นว่าคลื่นนี้จะมีจังหวะที่ผิดปกติในคนที่ป่วยเป็นโรคลมชักอัลไซเมอร์ โรคสมาธิสั้น และโรควิตกกังวล
เป็นเวลาหลายปีที่มีการใช้ยาเพื่อเพิ่มจังหวะของคลื่นธีต้า แต่ล่าสุด เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยสมอง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส หรือ UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีเพิ่มจังหวะของคลื่นสมองประเภทนี้ในหนู เพียงแค่นำมันเข้าไปอยู่ในการจำลองเสมือนจริง (ผลการวิจัยของพวกเขาถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Neuroscience)
ศาสตราจารย์ Mayank Mehta แห่ง UCLA ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยนี้ เชื่อว่าความก้าวหน้าครั้งนี้จะทำให้ VR สามารถนำมาใช้เพื่อปฏิวัติการรักษาโรคจิตเวช และยังสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเพื่อช่วยให้ผู้คนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น
แล้ว VR มันทำงานอย่างไร ทำไมถึงทำให้คนเราฉลาดขึ้นได้?
ศาสตราจารย์ Mehta ให้คำตอบว่า ความจริงแล้ว VR ถูกใช้สำหรับการรักษาทุกประเภทแล้ว ตั้งแต่การใช้ทางคลินิกสำหรับโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ ที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือสภาวะป่วยทางจิตใจ หลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน ตลอดจนสถานการณ์อันตรายที่คุกคามต่อชีวิตตัวเองหรือคนอื่นๆ ทั้งที่ต้องตกเป็นผู้เผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายนั้นเองโดยตรง หรืออาจได้เห็นเป็นพยานรับรู้ในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ
นอกจากนี้ VR ยังใช้ช่วยฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยด้วย โดยได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาใหม่ หรือเสนอสิ่งเร้าเฉพาะภายในพื้นที่ที่คับแคบให้กับผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล
แม้ศาสตราจารย์ Methaจะไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า VR สามารถส่งผลดีต่อสมองเพียงเพราะทำให้เรารู้สึกว่ามีชีวิตจริงๆ ในโลก VR แต่เขาบอกว่ามีบางอย่างใน VR เอง หรืออย่างน้อยก็ระบบ VR ที่ห้องทดลองของเขาซึ่งสร้างขึ้นสำหรับหนูที่เขาศึกษา อาจส่งผลกระทบต่อสมองในระดับลึก รวมถึงส่งกระทบต่อคลื่นธีต้า ซึ่งในที่สุดอาจส่งผลต่อการรักษาและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
แม้ศาสตราจารย์ Metha จะเป็นนักฟิสิกส์ แต่เขาศึกษาเกี่ยวกับสมองมาเกือบสองทศวรรษแล้ว เช่นเดียวกับคลื่นแสงและเสียงทั่วทั้งจักรวาลเป็นเพียงความถี่ฮาร์มอนิกที่แผ่กระจายไปทั่วอวกาศ ความคิดของมนุษย์ก็เช่นกันที่ขับเคลื่อนโดยการสั่นของพลังงานซึ่งส่งผ่านจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่ง เขาเชื่อว่าด้วยจุดเริ่มต้นทั่วไปที่เหมือนกันระหว่างฟิสิกส์และประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ทำให้เขาสามารถแยกโครงสร้างกลไกของสมองได้
ในกระบวนการแกะกล่องวิธีการทำงานของสมอง เขาเริ่มนำหนูเข้าไปในอุปกรณ์เสมือนจริงขนาดเล็กที่ซับซ้อนมาก เขาพบว่า “หนูกำลังวิ่งอยู่ในโลก VR ซึ่งเหมือนจริงมากจนหนูชื่นชอบ กระโดดโลดเต้นเข้าไปในโลกเสมือนจริงนั้น และเล่นเกมอย่างมีความสุข”
หนูที่วิ่งใน VR จะมีจังหวะของคลื่นธีต้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการวิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง
ศาสตราจารย์ Mehta กล่าวว่า “เรารู้สึกทึ่งเมื่อเห็นผลกระทบมหาศาลของประสบการณ์ VR ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพจังหวะของคลื่นธีต้า และนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า VR สามารถ “ฝึก” สมองส่วนฮิปโปแคมปัสได้ นั่นหมายความว่าเราอาจลดความเสียหายในสมองที่พบในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้”
“อาจเป็นได้ว่า VR มี input ทางประสาทสัมผัสที่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเราสำรวจโลกจริงเราได้รับข้อมูลจากอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ตา จมูก หู และประสาทสัมผัสอื่นๆ มากมายที่ VR ไม่มี แต่ VR สามารถกระตุ้นคลื่นธีต้าได้ เพราะใน VR เราอาศัยแค่การมองเห็นเท่านั้น” เขาย้ำว่า “VR สามารถใช้ เพื่อรักษาความบกพร่องทางการเรียนรู้และความจำ”
ทั้งนี้ VR มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสให้กับผู้ใช้ ซึ่งบางครั้งรวมถึงการเห็น สัมผัส การได้ยิน การได้กลิ่น หรือแม้แต่การรับรส อุตสาหกรรม VR โดยรวมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยขนาดตลาด VR ทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็นมากกว่า 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567
แหล่งข้อมูล