โรช-รีเจนเนอรอน เตรียมส่ง “ยาแอนติบอดี ค็อกเทล” ลงสนามรักษาผู้ป่วยโควิดอาการน้อย-ปานกลาง ชี้ช่วยต้านเชื้อ ลดการรักษาตัว 4 วัน หลัง อย.ไทยอนุมัติยาแอนติบอดีแบบผสมในผู้ป่วยโควิด
วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิง ศันสนี เลิศฤทธิ์เรืองสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตภัณฑ์ยาและการตรวจวินิจฉัย อาทิ antigen test kit เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยได้ประกาศอนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail) เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ขณะที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ องค์การควบคุมมาตรฐานยาส่วนกลาง ของอินเดีย และในอีกหลายประเทศได้ทยอยอนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมอย่างมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization – EUA) เช่นเดียวกัน
ล่าสุด ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติแบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้ใช้ยาแอนติบอดีแบบผสมสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare – MHLW) ภายใต้มาตรา 14-3 ของกฎหมายเภสัชกรรมและเครื่องมือแพทย์ (Pharmaceuticals and Medical Devices Act – PMDA)
อย่างไรก็ดี ยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ โรช (Roche) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) ร่วมกันพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงต่อการลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ
ซึ่งผลการวิจัยระบุถึงประสิทธิภาพของยาแอนติบอดีแบบผสมของโรช สามารถช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัส (viral load) ในร่างกายของผู้ติดเชื้อ และลดระยะเวลาที่ผู้ติดเชื้อต้องใช้เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลลงได้ 4 วัน
ขณะเดียวกันยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลงได้ถึง 70%
ส่วนประเด็นที่ว่ายาแอนติบอดีแบบผสมใช้รักษาการติดเชื้อจากสายพันธุ์ต่างๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น เบตา (Beta) อัลฟา (Alpha) แกมมา (Gamma) เดลตา (Delta) ได้หรือไม่นั้น แม้จะมีผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ (in vitro) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health – NIH) ที่บ่งชี้ว่ายาแอนติบอดีแบบผสมมีความไวต่อเชื้อกลายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีผลการทดลองในมนุษย์ (in vivo)
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่ายาแอนติบอดีแบบผสม นอกจากจะเป็นนวัตกรรมเพื่อการรักษาที่ผ่านการทดสอบว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพึงพอใจ ยาดังกล่าวยังเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤติสุขภาพ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ติดเชื้อที่กำลังรอเตียงสามารถเข้าถึงการดูแลของแพทย์ได้เร็วยิ่งขึ้น จากระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลงของผู้ป่วยที่รับการรักษาก่อนหน้า ญาติของผู้ติดเชื้ออาจไม่ต้องสูญเสียบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รักไป บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักมีโอกาสแบ่งเบาภาระงานลง ส่วนสถานพยาบาลต่างๆ ที่รับมือกับยอดผู้ติดเชื้อใหม่ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องก็สามารถลดการสูญเสียทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น เตียง ชุดป้องกัน PPE หรือท่อช่วยหายใจ ได้อีกด้วย
สำหรับการระบาดในระลอกที่สาม โรชยังคงเดินหน้าใช้จุดแข็งและศักยภาพขององค์กร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือและลดความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ตั้งแต่ด้านการตรวจวินิจฉัย ชุดตรวจแอนติเจนสำหรับการใช้งานโดยบุคลากรการแพทย์ในสถานพยาบาล และชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit) สำหรับการใช้งานโดยบุคคลทั่วไป ไปจนถึงด้านการรักษา ที่องค์การอนามัยโลกประกาศเพิ่มข้อบ่งใช้สำหรับยาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และยาแอนติบอดีแบบผสม (antibody cocktail)
แหล่งข้อมูล