กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเผชิญกับปัญหาอันสลับซับซ้อนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน
ตลอดจนในปัจจุบัน เรียกได้ว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ นั้นก็คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
สิ่งเหล่านี้ คือโจทย์สำคัญที่เราทุกคนต่างต้องการที่จะหาคำตอบ…
ซึ่ง Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ถือเป็นแนวคิดสำคัญที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่าจะสามารถนำพาโลกให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไปได้
วันนี้ Security Systems Magazine ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจตรี ประสพโชค พร้อมมูล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการบูรณาการและการขับเคลื่อนการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่จะมาถ่ายทอดวิสัยทัศน์และแนวทางในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ตลอดจนแนวทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
พล.ต.ต.ประสพโชค กล่าวว่า “ด้วยสภาวการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าเรื่อง Smart City โดยหลักการนั้นจะมีอยู่ 7 ด้าน แต่สิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน ณ เวลานี้ ก็คือเรื่องของ Smart Living ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในด้านคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ รายได้ ตลอดไปจนถึงเรื่องของ Healthcare ที่เราจะต้องขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วนด้วย”
โรคระบาด...ภัยคุกคามเฉพาะหน้า
“โควิด-19 ไม่ใช่ปัญหาแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน ผมมองว่าเราจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการเรื่องนี้ บนพื้นฐานของวิธีคิดที่ถูกต้องก่อน” เนื่องจาก Smart City นั้นจะต้องเริ่มจากวิธีคิดที่ถูกต้อง โดยเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่นำมาส่งเสริมกับแนวคิดที่ถูกต้องนั้น
วันนี้…แน่นอนว่าจะต้องมีการแก้ปัญหาทั้งในเชิงสาธารณสุข เช่น การฉีดวัคซีน การตรวจโรคที่รวดเร็ว การคัดกรองโรค การมีโรงพยาบาลสนาม มีการกักตัวผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในด้านสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวก็จะต้องมีการแก้ปัญหาในด้านเศรษฐกิจไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจก่อสร้าง
“ธุรกิจ 2 กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในทุกรอบของการระบาด ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเรามีแรงงานอยู่ในธุรกิจ 2 กลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน และขับเคลื่อน GDP ปีละประมาณ 8-9 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการ ให้เกิดความสมดุลกัน ทั้งในการควบคุมโรค และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญมากที่แต่ละฝ่ายจะต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข”
หลักคิดง่าย ๆ ของ Smart City
“สำหรับการสร้างเมืองอัจฉริยะ นอกจากที่เราจะมีวิสัยทัศน์ หรือวิธีคิดที่ถูกต้องแล้ว เราจะมีตัวชี้วัดง่าย ๆ ผมเรียกว่า 5 ส. ก็แล้วกัน…”
- สะดวก การดำเนินชีวิตของผู้คนจะต้องมีความสะดวกสบาย
- สวยงาม ภูมิทัศน์จะต้องมีความน่าอยู่ สวยงาม สะอาด สิ่งแวดล้อมดี
- สงบเรียบร้อย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดภัยจากโควิด 19
- สิ่งแวดล้อม ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งบนบก น้ำ และอากาศ
- สุข อยู่แล้วมีความสุข มีความสบายใจ มีปัจจัย 4 ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ดังนั้น วิธีคิด วิสัยทัศน์ และการใช้เทคโนโลยี จะต้องถูกจัดวางอยู่บนพื้นฐานของตัวชี้วัดทั้ง 5 ข้อนี้
กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ
“จริง ๆ แล้ว Smart City มีอยู่หลายด้าน แต่สิ่งผมจะขับเคลื่อนก่อน ก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจะเกี่ยวเนื่องไปทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งทางบกก็ได้แก่เรื่องขยะ ของเสียต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันเราจะต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีในการจัดการขยะ ผมคิดว่าถ้าหากเรามีหลักบริหารจัดการที่ดี เราก็จะประหยัดเงินไปได้เยอะมาก ซึ่งเราจะต้องใช้ทั้งในส่วนของกระบวนการจัดการขยะ เช่น การคัดแยก การรีไซเคิล และต้องมีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย หรือทางน้ำ เรามีลำคลองในกรุงเทพฯกว่า 1,600 แห่ง แต่สภาพตอนนี้น่าเป็นห่วง เราจึงจะต้องมีการบริหารจัดการเรื่องน้ำเสียอย่างเร่งด่วน ส่วนเรื่องอากาศเราก็มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาประจำปีก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Smart Mobility หรือปัญหาจราจรด้วย”
“กรุงเทพมหานครมีสัญญาณไฟจราจร 505 จุด บริหารจัดการด้วย 88 สถานีตำรวจนครบาล และเส้นทางต่าง ๆ ยังเชื่อมต่อไปกับจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจุดสัญญาไฟจราจรอีกประมาณ 100 จุด รวมถึงในแต่ละวันยังจะต้องใช้ตำรวจจราจรเพื่อประจำจุดต่าง ๆ วันละประมาณ 1,200 นาย ดังนั้น ผมเองได้เป็นประธานในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรง โดยมีแผนว่าจะต้องมีการใช้ระบบควบคุมสั่งการแบบอัจฉริยะ เรียกว่าศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จะสามารถควบคุมสั่งการสัญญาณไฟจราจรให้มีความสอดคล้องกันทั้งระบบ ซึ่งทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะช่วยแก้ปัญหารถติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังลดปริมาณการใช้ตำรวจจราจรในแต่ละวันอีกด้วย”
กรุงเทพฯปันสุข สู้ภัยโควิด เศรษฐกิจพัฒนา
“ผมมองว่าจุดเด่นด้านเศรษฐกิจไทยเรามี 4 เรื่อง คือ การเกษตร อาหาร การท่องเที่ยว และเรื่องสุขภาพ เราควรที่จะมีการส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์ม สำหรับเป็นสื่อกลางให้ ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือผู้บริการ มาเจอกัน โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤติตอนนี้ ที่เรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด ห้างร้าน การท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้รับผลกระทบโดยตรง เราจึงจะต้องรีบเร่งในการแก้ปัญหา โดยภาครัฐเองจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นในการสร้างแพลตฟอร์มประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน โดยจะต้องสร้างเครื่องข่ายขึ้นมา ทั้งในรูปแบบ ออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การเกษตร อาหาร และเรื่องสุขภาพ รวมถึงแพลตฟอร์มนี้ ยังสามารถขยายความร่วมมือไปในด้านอื่น ๆ ได้ด้วยเช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งเสพติด เป็นต้น”
“โดยผมตั้งชื่อโครงการนี้เอาไว้ว่า กรุงเทพฯปันสุข สู้ภัยโควิด เศรษฐกิจพัฒนา แก้ปัญหาสังคม โดยโมเดลความร่วมมือตรงนี้ สามารถเอาไปปรับใช้ได้ในทุกจังหวัดอีกด้วย…” พลตำรวจตรี ประสพโชค พร้อมมูล ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณ
คุณสร้างรัฐ หัตถวงษ์
ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ
ผู้ประสานงาน