การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการทุ่มเทสรรพกำลังของภาครัฐเพื่อพิชิตศึกครั้งนี้ให้จบภายในเวลาสั้นที่สุด กระนั้นก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ดูเหมือนว่าไวรัสโควิด-19 ได้ก้าวนำเราไปหนึ่งก้าว
ท่ามกลางปัญหาการติดเชื้อรายใหม่ที่ระบาดไปทั่วประเทศไม่หยุดหย่อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้เกิดแนวคิดว่าแทนที่จะรอนโยบายจากจังหวัดหรือส่วนกลางเข้ามาบริหารจัดการ ทำไมเราไม่รวมตัวเพื่อบริหารจัดการกันเอง ช่วยเหลือตัวเอง ในพื้นที่ของตัวเอง ด้วยกลยุทธ์ “คิดใหม่ ทำใหม่” นั่นคือจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนทำงานที่ชื่อว่า “จิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด”
“จิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด” เริ่มต้นจาก ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ร่วมกับอดีตนักศึกษา MIT และกลุ่มท้องถิ่นสมาร์ทซิตี้บ้านฉาง จ.ระยอง จัดตั้งกลุ่มจิตอาสาบ้านฉาง ออกแบบการจัดการและปฏิบัติการระดับชุมชนเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิดทั้งระบบ ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ผู้นำผู้บริหารท้องถิ่น อสม.จำนวน 800 คน รวมถึงทีมแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลท้องถิ่นและคณะผู้บริหารจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
นโยบายของจิตอาสากลุ่มนี้คือการตั้งเป้าตรวจโควิดคนใน อ.บ้านฉาง ทุกคน ทุกช่วงอายุ ทั้งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มไม่เสี่ยง ทั้งชาวบ้านฉางเกือบ 80,000 คน และประชากรแฝงชาวต่างชาติที่เป็นแรงงานและผู้อาศัยทั้งหมด พูดง่ายๆ คือตรวจทุกคน 100% โดยให้ผู้นำท้องถิ่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านลงทะเบียนจองวันเข้าไปยังจุดตรวจที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าไปยังจุดตรวจอาจมีอุปสรรคสำหรับบางคนที่มีปัญหาทางกายภาพ หรือผู้สูงอายุที่เดินทางลำบาก ในส่วนนี้ผู้นำแต่ละท้องถิ่นจะต้องระบุว่าในพื้นที่นั้นๆ มีจำนวนคนที่มีปัญหาด้านการเดินทางกี่คน และแจ้งมายังหน่วยตรวจ เพื่อให้หน่วยตรวจวางแผนว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น หากมีจำนวน 2-3 คนก็อาจจัดรถรับมาตรวจที่จุดตรวจ หรือถ้ามีจำนวนมากก็อาจจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจในชุมชนนั้นๆ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 2 สัปดาห์หลังเริ่มการตรวจจะตรวจได้ครบจำนวนประชากรทั้งหมด
หลังผ่านการตรวจสวอปจะมีทีมดูแลเข้ามารับช่วงต่อ ใครที่ไม่ติดเชื้อก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ ปฏิบัติตามระบบสุขอนามัย สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สำหรับผู้ติดเชื้อจะมีการจัดแบ่งเข้าระบบดูแลต่างระดับกันไป ถ้าเป็นระดับสีเขียวจะแนะนำการรักษาแบบโฮม ไอโซเรชั่น มอบถุงห่วงใย ซึ่งภายในจะบรรจุยารักษาตามอาการ ถ้าเป็นกลุ่มสีเหลืองก็มีการส่งต่อไปยัง รพ.สนาม ขณะที่กลุ่มสีแดงจัดส่งรพ.หลักในพื้นที่และใกล้เคียง โดยผู้ป่วยทุกระดับสีจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่รุนแรง แม้จะกักตัวอยู่บ้าน แต่จะมีการประสานงานระหว่างผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่ผ่านแอปพลิเคชั่น We Safe @ Home เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถ้าในบ้านนั้นมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ไม่สามารถแยกกักตัวได้ ผู้นำชุมชนก็จะนำมารักษาในพื้นที่ของส่วนกลางหรือคอมมูนิตี้ ในขณะเดียวกันทีมแพทย์-พยาบาลก็จะทราบอาการของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ถ้าใครมีอาการกำเริบก็สามารถปรับกลุ่มขึ้นมาอยู่ในกลุ่มสีเหลืองและส่งต่อรักษาตัวใน รพ.สนามได้ทันที ตั้งเป้าว่าด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว ภายใน 1 เดือนหรือช้าสุด 1 เดือนครึ่งจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง
ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธาน EEC HDC กล่าวว่าการต่อสู้กับโควิดในพื้นที่บ้านฉางครั้งนี้เป็นการคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อก้าวให้ทันกับโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การกำจัดก็ต้องใช้แนวทางใหม่ คือการสร้างโมเดลการจัดการที่ใช้ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการวางระบบและใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการตรวจรักษาและดูแลแบบเทเล Medicine ควบคู่กัน การร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว ทำงานแบบมีเป้าหมายเดียวกัน จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ นอกจากพื้นที่บ้านฉางแล้วเรายังขยายไปทำในพื้นที่อื่นของอีอีซีด้วย” ดร.อภิชาต กล่าว
ลองนึกภาพว่าหากทุกชุมชนทำแบบเดียวกับ “บ้านฉาง” น่าจะช่วยลดภาระของสาธารณสุขระดับชาติได้อย่างมาก ทั้งการตรวจหาเชื้อ การดูแลผู้ป่วยหลังพบเชื้อ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ เพราะความกังวลของทุกคนวันนี้คือ…การตรวจเชื้อนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการตรวจเชื้อคือการดูแลหลังพบผู้ติดเชื้อ
แหล่งข้อมูล