depa ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5

Share

Loading

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ (Lean IoT Plant management and Execution – LIPE) กับ Mr. Matsuo Takehiko อธิบดีกรมนโยบายการค้า และ Mr. Iida Yoichi อธิบดีกรมความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมออนไลน์

บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นกรอบความร่วมมือในการเสริมสร้างความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตในด้านอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตภายใต้โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัย ผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี IoT และการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงานของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตามแนวทางของ Lean Manufacturing อีกทั้งสามารถแข่งขันทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน ก่อนผลักดันสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป

สำหรับบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีลงนามความตกลงทางเศรษฐกิจ 4 ฉบับระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ 5

ได้รับเกียรติจาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย Mr. Motegi Toshimitsu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นประธาน โดยมีคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น รวมถึงผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง

การประชุมมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1 การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น

2 ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

3 ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/depathai/posts/4177386565673227