เลือกและใช้ GPS อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

Share

Loading

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน อุปกรณ์นำทางที่เราคุ้นชินและนิยมใช้กันมาก คือ แผนที่ โดยเฉพาะนักเดินทางต่างถิ่นจะไปไหนทีขอเปิดแผนที่เพื่อความมั่นใจ แต่ปัจจุบันแผนที่แผ่นใหญ่ ๆ ได้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ไปเสียสิ้น เมื่อ GPS Technology ได้เข้ามาแทนที่ 

GPS แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ก็เพิ่งจะได้รับการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลายมาไม่ไม่กี่ปีมานี่เอง ปัจจุบันจะเห็นว่า มีการนำ GPS ไปใช้ประโยชน์หลากหลาย อาทิ ช่วยนำทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ตามต้องการ ช่วยในการติดตามการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ คน สัตว์ และสิ่งของ ช่วยในการปรับปรุงแก้ไขความถูกต้องเชิงตำแหน่งของข้อมูลจากดาวเทียม ช่วยในการสำรวจรังวัด ทำแผนที่ และจัดสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ช่วยในการควบคุมเครื่องจักรกลในภาคเกษตรกรรม ช่วยในการบริหารจัดการคมนาคมขนส่ง ช่วยสนับสนุนการให้บริการข้อมูลข่าวสารเชิงตำแหน่ง (Location Based Service) และยังช่วยในงานด้านความปลอดภัยได้อีกด้วย

gps-content2

GPS คืออะไร

GPS ย่อมาจาก Global Positioning System คือ ระบบบอกตำแหน่งบนพื้นผิวโลก โดยอาศัยการคำนวณจากความถี่สัญญาณนาฬิกาที่ส่งมาจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกทั้งหมด 24 ดวง ดาวเทียม GPS เป็นดาวเทียมที่มีวงโคจรระดับกลาง (Medium Earth Orbit) ที่ระดับความสูงประมาณ 20,200 กิโลเมตร จากพื้นผิวโลก ทำให้ระบบนี้สามารถบอกตำแหน่ง ณ จุดที่สามารถรับสัญญาณได้ทั่วโลก โดยเครื่องรับสัญญาณจีพีเอส สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ให้กำเนิดระบบจีพีเอส (GPS) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 โดยใช้เฉพาะทางการทหาร แต่เมื่อ 1 กันยายน 2526 ได้เกิดเหตุการณ์โคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 007ของเกาหลีใต้ บินพลัดหลงเข้าไปในน่านฟ้าของสหภาพโซเวียตและถูกรัสเซียยิงตก ทำให้ผู้โดยสาร 269 คนเสียชีวิตทั้งหมด ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จึงประกาศให้พัฒนาระบบจีพีเอสที่เคยใช้เฉพาะทางการทหารให้นำไปพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้ใช้กับพลเรือนและอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปนำมาใช้งานได้ แรกเริ่มมีการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อหาพิกัดเครื่องบิน พิกัดเรือ พิกัดรถ พิกัดบุคคล ต่อมามีการเพิ่มวิวัฒนาการร่วมกับการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง GPRS เพื่อแสดงผลแบบ Real-time ในการติดตามยานพาหนะติดตามการส่งสินค้า และมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป จนมาถึงประเทศไทย

gps-content

ประเภท และประโยชน์ของ GPS

GPS ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ GPS Navigator (อุปกรณ์และระบบนำทาง) เป็น GPS ที่เราใช้งานในรถยนต์ทั่วไปที่บอกแผนที่การเดินทางด้วยการป้อนข้อมูลของเป้าหมายลงไปในเครื่องนำทาง GPS

GPS Tracking System (อุปกรณ์และระบบติดตามรถ ยานพาหนะหรือสัตว์เลี้ยง) ซึ่งเป็น GPS ที่สามารถติดตามการเดินทาง และบอกพิกัดและตำแหน่งของ เครื่อง GPS ได้ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

GPS Tracking Offline สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งพิกัดเอาไว้ภายใน GPS Tracker เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้มีราคาไม่แพง แต่จะตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยการเชื่อมต่อเข้ากับคุณสมบัติและการทำงานของ GPS TRACKER จะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิดเท่านั้น
GPS Tracking กึ่ง Offline สามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ โดยภายในตัวเครื่องจะมีช่องสำหรับใส่ Simcard ส่งข้อมูลพิกัดให้ผู้กับผู้ใช้งานผ่านทางระบบ SMS ทันทีที่ต้องการทราบพิกัด เพียงแค่กดรหัสและเข้าเมนูแจ้งพิกัดก็จะสามารถทราบได้ในทันที แต่จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการบริการ SMS และข้อมูลพิกัดที่ได้นั้นจะเป็นตัวเลข ซึ่งต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาตัวเลขพิกัดดังกล่าวจึงจะสามารถที่บอกตำแหน่งปัจจุบันและไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้
GPS Tracking Online ถือว่าเป็น GPS Tracker ที่มีความสามารถในการทำงานอย่างครบเครื่อง เพราะสามารถรับข้อมูลพิกัดตำแหน่งปัจจุบันจากดาวเทียม เชื่อมต่อผ่าน Server ด้วยระบบ EDGE หรือ GPRS ผู้ใช้สามารถเรียกดูตำแหน่งปัจจุบัน ประวัติการเดินทางในแบบ Real time ได้ในทันที และสามารถดูประวัติการเดินทางย้อนหลังได้ เชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งส่งคำสั่งต่างๆ กลับไปยังเครื่อง GPS Tracker เช่น ดับเครื่องยนต์ ล๊อคประตู ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำมัน หรือส่งสัญญาณเตือนภัย เป็นต้น นอกจากค่าใช้จ่ายในการซื้อและติดตั้งแล้ว GPS Tracker Online ยังมีค่าบริการรายเดือนตามเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ให้บริการ

การประยุกต์ใช้ GPS

ปัจจุบันจะพบว่ามีการประยุกต์ใช้ GPS ในหลายวงการ อาทิ
– วงการเกษตรกรรม มีการนำ GPS ไปใช้ในการควบคุมเครื่องจักรกลในการทำการเกษตร ช่วยลดปัญหาด้านแรงงาน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ โดยติดตั้งระบบ GPS ในรถแทรคเตอร์เพื่อใช้ในการควบคุม การหยอดเมล็ด หยอดปุ๋ย ให้น้ำและเก็บเกี่ยว ด้วยค่าพิกัดที่แม่นยำ ตามแผนที่ และคำสั่งที่โปรแกรมไว้
– วงการคมนาคม ขนส่ง และการจราจร มีการนำ GPS มาใช้ในการควบคุมคู่กับระบบขนส่งสินค้า ทำให้ทราบที่อยู่ปัจจุบันของรถขนส่งสินค้าที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติงานได้ทันที หรือบางทีใช้ รายงานการจราจร ตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุหรือมีงานก่อสร้างสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับ Google Earth ให้ดูสภาพจริงได้ และปัจจุบันนิยมใช้เป็นระบบนำทางในรถยนต์
– วงการบริการข้อมูลข่าวสารเชิงตำแหน่ง เป็นการใช้งานระบบ GPS ร่วมกับการให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อเพิ่มผลกำไรผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเชิงพื้นที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้งาน GPS Tracking แต่ละชนิดนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้หรือผู้ติดตั้งเป็นส่วนใหญ่ ว่าต้องการการติดตามหรือส่งผ่านสัญญาณแบบใดจึงจะสามารถตอบโจทย์ได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีตัวแปรในเรื่องของความชัดเจนของสัญญาณ คุณภาพของตัวเครื่อง และราคาของแต่ละรุ่นว่าผู้ติดตั้งมีงบประมาณมากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาและปรับปรุงให้มีการใช้งานที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้ใช้รู้สึกมั่นใจและใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศเลยทีเดียว

 

ที่มา: เกร็ดความรู้.net
http://www.dee-in.com/
https://thaigpstrackers.com/
http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2691