ส่องสถานการณ์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเคเบิลใต้น้ำ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

Share

Loading

บริการโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนต่างๆ ทั่วโลกเชื่อมต่อกันได้ ทำให้เราสามารถส่งสัญญาณสื่อสารและสารพันข้อความได้ในทันที โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกวันนี้เป็นเรื่องง่ายมาก ที่เราจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ และเริ่มการประชุมวิดีโอทางไกลกับพันธมิตรที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลก

ซึ่งด้วยความง่ายและสะดวกสบายเช่นนี้ ทำให้เราลืมไปว่าเบื้องหลังการดำเนินงานที่ทำให้กิจกรรมดังกล่าวสำเร็จนั้นเป็นงานที่สเกลใหญ่และหินแค่ไหน โดยเฉพาะการวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Communications Cable) ที่ล่าสุด มี 2Africa อภิมหาโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะถือกำเนิดขึ้น

การดำเนินงานและการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและบริการโทรคมนาคมเป็นงานมหึมาที่ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เฉพาะในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว CAPEX (หรือ Capital Expenditures เป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาของสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเพื่อหารายได้) คาดว่าจะสูงถึง 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 นอกจากนี้ยังต้องใช้ช่างเทคนิคและพนักงานที่มีทักษะจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่เป็นนายจ้างรายใหญ่ เช่น China Mobile เป็นหนึ่งในนายจ้างด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีพนักงานประมาณ 456,239 คน Verizon จัดหางานประมาณ 135,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ Vodafone มีพนักงานประมาณ 92,005 คน

การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้สร้างความท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม เมื่อพนักงานจำนวนมหาศาลเริ่มทำงานจากระยะไกล สิ่งสำคัญคือบริการโทรคมนาคมต้องทำหน้าที่ในการเปลี่ยนภาระงานจากเครือข่ายองค์กรเป็นเครือข่ายส่วนตัวสำหรับลูกค้าทั่วไป ตัวอย่างเช่น Verizon พบว่าการเข้าชม VPN เพิ่มขึ้นถึง 49% และการเข้าชมเว็บไซต์ 30% ในช่วงเดือนเมษายน 2563 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และแม้ว่าขณะนี้ ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกจะต้อนรับพนักงานกลับมาที่สำนักงานของตน หลังจากมีนโยบาย Work from Home และ Work form Anywhere มาสักระยะ แต่ CFO ประมาณ 3 ใน 4 ที่สำรวจโดย Gartner กล่าวว่าพวกเขาคาดหวังว่าพนักงานบางส่วนของพวกเขาจะยังคงทำงานจากระยะไกลต่อไป

ในขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยังคงต้องคอยติดตามและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการข้อมูลของลูกค้าที่มากขึ้น โดย 5G ได้กลายเป็นเทคโนโลยีหลักตัวต่อไป ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการให้บริการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ การจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 5G ทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2564 เกินจำนวนทั้งหมดที่จัดจำหน่ายในปี 2562 และความต้องการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างตอนนี้จนถึงปี 2567  เนื่องจาก 5G เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคได้ดีและเร็วกว่าเทคโนโลยีเดิม และคาดว่าจะถูกนำไปใช้เชื่อมต่อในรถยนต์ในกรณีฉุกเฉิน การบริการต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์เทเลเมติกส์ และส่วนอื่นๆ ภายในปี 2566

กระนั้น แม้ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  อย่างเต็มรูปแบบต่อบริการโทรคมนาคมนั้นคาดเดาได้ยาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนก็คือ ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในฐานะผู้ใช้จ่ายรายใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ และในฐานะผู้จ้างงานหลายแสนตำแหน่ง อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะทวีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเราและเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

2Africa เครือข่ายเคเบิลใต้มหาสมุทรที่ยาวที่สุดในโลก

กำเนิดอภิมหาโปรเจกต์ “2Africa” โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เคเบิลใต้น้ำ (Submarine Communications Cable) คือ สื่อสัญญาณสำหรับการสื่อสารระยะทางไกล เปรียบเสมือนท่อส่งสัญญาณขนาดใหญ่ ที่มีการรับ-ส่งสัญญาณคุณภาพสูง โดยพัฒนาการของเคเบิลใต้น้ำ เริ่มจากชนิดแกนร่วม (Coaxial) จนมาถึงระบบใต้น้ำเคเบิลเส้นใยนำแสง (Optical Fiber)

มูลค่าตลาดสายเคเบิลใต้น้ำทั่วโลกมีมูลค่า 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปีที่ 7.1% ในปี 2563-2570

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำคือ 2Africa ที่แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้เปิดใช้งาน แต่ก็เป็นหนึ่งในโครงข่ายนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมระยะทาง 37,000 กิโลเมตร และเชื่อมต่อ 23 ประเทศในยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เกิดจากความร่วมมือของ China Mobile International, Facebook, MTN GlobalConnect, Orange, stc, Telecom Egypt, Vodafone และ WIOCC เพื่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ครอบคลุมที่สุด และให้บริการในทวีปแอฟริกา รวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง

5 อันดับโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลกที่เปิดให้บริการแล้วในขณะนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันจาก Submarine Cable Map ระบุว่า 5 อันดับโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ Southern Cross Cable Network (SCCN) ความยาว 30,500 กม. เปิดให้บริการพฤศจิกายน 2543, FLAG Europe-Asia (FEA) ความยาว28,000 กม. เปิดให้บริการพฤศจิกายน 2540, SAT-3/WASC ความยาว 14,350 กม. และ SAFE ความยาว 13,500 กม. เปิดให้บริการเมษายน 2545, South America-1 (Sam-1) ความยาว 25,000 กม. เปิดให้บริการมีนาคม 2544 และ Asia Africa Europe-1 (AAE-1) ความยาว 25,000 กม. เปิดให้บริการมิถุนายน 2560

สำหรับสายเคเบิลใต้น้ำของ 2Africa ได้รับการออกแบบมาด้วยการปรับปรุงความยืดหยุ่นและเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่ ทำให้สามารถติดตั้งคู่ไฟเบอร์ได้มากถึง 16 คู่ แทนที่จะเป็นคู่ไฟเบอร์ 8 คู่ที่รองรับโดยเทคโนโลยีรุ่นเก่า ทำให้มีความจุที่มากขึ้นและคุ้มค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งยังสามารถจัดการแบนด์วิดธ์ได้อย่างยืดหยุ่น ขณะที่ความลึกของการฝังสายเคเบิลยังเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับระบบรุ่นเก่า และการเดินสายเคเบิลจะช่วยหลีกเลี่ยงตำแหน่งของการรบกวนใต้ทะเลได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

เชื่อมการสื่อสารโทรคมนาคม ด้วยโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำทั่วโลก

เครือข่ายเคเบิ้ลใต้นำที่เชื่อมต่อกับประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ เกิดขึ้นเพื่อเชื่อมต่อยุโรป (ทางตะวันออกผ่านอียิปต์) ตะวันออกกลาง (ผ่านซาอุดีอาระเบีย) และมีสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ 21 แห่งใน 16 ประเทศในแอฟริกา ระบบนี้คาดว่าจะเริ่มใช้งานในไตรมาส 4 ปี 2566 โดยจะส่งมอบมากกว่าความจุรวมทั้งหมดของสายเคเบิลใต้น้ำทั้งหมดที่ให้บริการในแอฟริกาในปัจจุบัน เสริมความต้องการการใช้งานเชื่อมต่อด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตะวันออกกลาง และหนุนการเติบโตต่อไปของทั้ง 4G, 5G และการเข้าถึงบรอดแบนด์ที่เสถียรภาพสำหรับผู้คนกว่าหลายร้อยล้านคน และสถานีเคเบิ้ลใตน้ำทุกแห่ง ในทุกประเทศ ภายใต้โครงข่าย 2Africa จะให้บริการบนพื้นฐานที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศอินเทอร์เน็ตที่ดี โดยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งธุรกิจและผู้บริโภคในการเข้าถึงและเชื่อมต่อที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ทั้งนี้ Facebook ไม่ได้เป็นเพียงรายเดียวของ Big Four ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ที่ลงทุนในระบบสื่อสารใต้น้ำ อันที่จริง Facebook เพิ่งร่วมมือกับ Google เพื่อสนับสนุนโครงการ Apricot ซึ่งเป็นโครงข่ายสายเคเบิลใต้น้ำความยาวรวม 12,000 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมกวม อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ภายในปี 2566

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/08/22/submarine-communications-cable-telecom-2africa/