“เซี่ยงไฮ้” ครองแชมป์จีดีพีสูงสุดของแดนมังกร

Share

Loading

ในปี 2019 เซี่ยงไฮ้มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงที่สุดในประเทศจีน โดยมีจีดีพีประมาณ 3.82 ล้านล้านหยวน (ราว 17.77 ล้านล้านบาท) ปักกิ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจีดีดี 3.54 ล้านล้านหยวน (ราว 16.47 ล้านล้านบาท) ขณะที่จีดีพีของลาซาเมืองหลวงของทิเบตมีมูลค่าประมาณ 62 พันล้านหยวน (ราว 288.37 พันล้านบาท)

โดยอันดับของเมืองต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยฉงชิ่งขยับไปอยู่ที่อันดับที่ 4 และหนานจิงเข้าสู่ 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก โดยอยู่อันดับที่ 9

ในบรรดาเมือง 10 อันดับแรก มี 4 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ซูโจว หางโจว และหนานจิง ตั้งอยู่ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เมื่อการพัฒนาแบบบูรณาการของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีได้รับการยกระดับเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และในอนาคตจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคในอนาค

หนานจิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจียงซูที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีนได้พยายามสร้าง “เมืองแห่งนวัตกรรม” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วง 6เดือนแรกของปี 2020เมืองนี้ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือฉบับใหม่กับสถาบันวิจัยและพัฒนา 78 แห่ง รวมทั้งได้บ่มเพาะและแนะนำวิสาหกิจใหม่มากถึง 1,204 แห่ง

ฉงชิ่งหรือที่รู้จักกันในชื่อเมืองแห่งภูเขา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวแบบ “V-Shaped” (ลักษณะของการที่เศรษฐกิจดิ่งลงไปมาก แต่ภายในระยะเวลาอันสั้นก็สามารถฟื้นตัวหรือเด้งขึ้นมาอยู่ในระดับที่เคยอยู่ได้) ในดัชนีที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐที่สำคัญ โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับเมืองหลวงของจีน จากความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจดิจิทัลและการลงทุนของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต พบว่าการลงทุนของปักกิ่งในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า และการลงทุนในบริการเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ขณะที่เมืองต่างๆ เช่น ฉงชิ่ง เฉิงตู และหางโจว กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เนื่องจากมีกระแสโด่งดั่งจากโลกออนไลน์ ทำให้คนนิยมมาท่องเที่ยวมากขึ้น

ว่ากันถึงอันดับ 1ก่อนหน้านี้จีดีพีของเซี่ยงไฮ้เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อยๆ สูญเสียโมเมนตัมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านการเติบโตของจีดีพีของเซี่ยงไฮ้พัฒนาใกล้เคียงกับตัวเลขของประเทศจีน โดยในปี 2019 อยู่ที่ 6%

การบริโภคของประชาชนในเซี่ยงไฮ้เปลี่ยนจากลบเป็นบวกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2020เนื่องจากแคมเปญครั้งใหญ่ของทางการที่เรียกว่า “5 May Shopping Festival” เนื่องจากร้านค้าต่างๆ เสนอคูปองช้อปปิ้งเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายออนไลน์และออฟไลน์  ทำให้การบริโภคในพื้นที่ธุรกิจที่สำคัญฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกันกับปีที่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดคือ การผลิตขั้นที่สามหรือขั้นตติยภูมิ (Tertiary production) ซึ่งเป็นการผลิตในลักษณะการให้บริการด้านการขนส่ง การค้าส่ง การค้าปลีก การประกันภัย และการธนาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผลผลิตเคลื่อนย้ายจากการผลิตขั้นที่หนึ่งไปขั้นที่สอง และไปสู่ผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพดีขึ้นนั้นมีอัตราการเติบโตสูงสุดในปีที่ผ่านมา และภาคการบริการของเซี่ยงไฮ้มีสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี ในทางตรงกันข้ามสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเซี่ยงไฮ้กลับหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนในภาคบริการที่มีการพัฒนาเร็วที่สุดคือ อุตสาหกรรมข้อมูลและองค์การทางการเงินที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกในเรื่องการเคลื่อนไหวของเงินสถาบันการเงิน โดยเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการรับฝากเงิน การให้กู้ยืม การซื้อขายหลักทรัพย์ และการรวบรวมเงินออมจากผู้ออมไปยังผู้ลงทุน

จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่โลกยุคใหม่ บางเมืองของจีนไม่ได้เน้นเพียงว่าจะทำอย่างไรให้จีดีพีเติบโตเท่านั้น แต่กลับพยายามมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงระบบการบริหารกิจการของเมืองให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เน้นการพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน

พัฒนาการของจีดีพีของเซี่ยงไฮ้

ในฐานะที่เซี่ยงไฮ้เป็นสะพานเชื่อมจีนสู่ตลาดโลก และเป็นผู้บุกเบิกในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน เซี่ยงไฮ้ประสบกับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของเมืองนี้อย่างมาก โดยเซี่ยงไฮ้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวเลข 2 หลักมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศจีน

กระน้ั้น เมื่อเกิดวิกฤตการเงินโลก ในปี 2008 อัตราการเติบโตของเซี่ยงไฮ้ก็ลดลงต่ำกว่า 10% และค่อยๆ ลดลงหลังจากนั้นเป็นลำดับ โดยขณะนี้อัตราการเติบโตเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยการเติบโตของประเทศจีนแล้ว ในขณะที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ก้าวไกลและรุดหน้าเป็นอย่างมาก แต่ภูมิภาคอื่นๆ ในจีนก็กำลังตามมาและอัตราการเติบโตในหลายภูมิภาคของจีนก็สูงกว่าเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเมืองโดยมีเมืองชั้นสองหรือเมืองรองระดับ 2 (Second-tier Cities) จำนวนมากที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเซี่ยงไฮ้

ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเป็นเมืองที่มีจีดีีพีสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากนิวยอร์ก โตเกียว ลอสแองเจลิส และลอนดอน ที่ครองอันดับ 1-4 ส่วนอันดับ 6-10 ได้แก่ ปักกิ่ง ปารีส ชิคาโก กวางโจว และเซินเจิ้น จะเห็นว่าใน 10 อันดับแรกของเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุดในโลก เป็นเมืองของประเทศจีนมากถึง 4 เมือง เลยทีเดียว

จีดีพีต่อหัวของเซี่ยงไฮ้

จีดีพีต่อหัวของพลเมืองเซี่ยงไฮ้เกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เป็นครั้งแรกในปี 2019 จัดอยู่ในระดับกลางของโลกและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหรือภูมิภาคอื่นๆ จะต้องคำนึงถึงว่าเขตการปกครองของเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และรวมถึงชานเมืองที่ห่างไกลเช่นเดียวกับหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จีดีพีต่อหัวของเซี่ยงไฮ้จึงค่อนข้างสูงและเป็นอันดับ 2 รองจากปักกิ่งเมื่อเทียบกับระดับจังหวัดในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบในระดับเมืองกับเมืองอื่นๆ ของจีนที่มีพื้นที่การปกครองที่เล็กกว่าและไม่รวมชานเมืองที่ห่างไกล ทำให้จีดีพีต่อหัวของเซี่ยงไฮ้ไม่ติด 5 อันดับแรก

“เซินเจิ้น” ยืนหนึ่งจีดีพีต่อหัวสูงสุดของจีน

เซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้งติดอันดับ 1 ในบรรดาเมืองที่มีจีดีพีต่อหัวที่สูงที่สุดของจีนในปี 2019 โดยแตะที่ 29,498 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 881,907 บาท) ตามมาด้วยอู๋ซี เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ และซูโจวในมณฑลเจียงซูโดยมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 26,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 780,316 บาท) และ 25,900 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 774,337 บาท) ตามลำดับ ด้วยพลังจากภาคการผลิตที่แข็งแกร่งที่ผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ทั้งนี้ จีดีพีต่อหัวเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเซินเจิ้นซึ่งเป็นเมืองแรกของจีนที่ทำสถิติจีดีพีต่อหัวแตะ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 298,974 บาท) ได้ตั้งแต่ปี 2007 และใช้เวลาเพียง 6 ปีในการเพิ่มจีดีพีต่อหัวเป็น 2 เท่า โดยเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 22,112 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 661,093 บาท) ในปี 2013 และยังคงครองตำแหน่งผู้นำในปี 2019

ด้านจูไห่และเอ้อเอ่อตัวซือ หรือเออร์ดอส (ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน) ทั้ง 2 เมืองถือเป็นเมืองขนาดเล็กด้วยจำนวนประชากรเพียง 2 ล้านคน มีรายได้มากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว (ราว 597,950 บาท) อยู่ในอันดับ 4 และ 5 ของประเทศจีน

จูไห่ เมืองในมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนได้รับแรงหนุนด้านเศรษฐกิจจากภาคการผลิตโดยมี 6 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ อุกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ข้อมูลดิจิทัล พลังงาน ยาชีววัตถุ การผลิตเครื่องจักรที่มีความแม่นยำ และการแปรรูปน้ำมัน มี Gree ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จูไห่

ส่วนเออร์ดอส โดยทั่วไปเป็นเมืองที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ โดยถ่านหินยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ผลกำไรที่เกิดจากอุตสาหกรรมถ่านหินคิดเป็นมากกว่า 70% ของกำไรจากอุตสาหกรรมทั้งหมดของเมืองนี้

ด้านเซี่ยงไฮ้มีผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในปีที่แล้วหรือกล่าวคือมีจีดีพีสูงสุดของประเทศจีน แต่จีดีพีต่อหัวอยู่อันดับที่ 8 ด้วยตัวเลข 22,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 681,653 บาท) ตามหลังปักกิ่งที่มีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 23,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 711,554 บาท) ขณะที่จีดีพีต่อหัวของกวางโจวอยู่ที่ 22,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 678,667 บาท) ครองอันดับที่ 9

อย่างไรก็ตาม ฉงชิ่ง เฉิงตู และเทียนจิน ซึ่งอยู่ใน 10 เมืองแรกที่มีปริมาณจีดีพีสูงสุดของจีน กลับมีจีดีพีต่อหัวค่อนข้างต่ำ ฉงชิ่งเมืองที่มีประชากร 30 ล้านคน อยู่ในอันดับที่ 29 ของรายการนี้ โดยอัตราการขยายตัวของเมืองฉงชิ่งอยู่ที่ 66.8% และผู้คนจำนวนมากไม่ได้ทำงานในเขตเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประสานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเมืองกับชนบท

ทั้งนี้มี 14 เมืองของประเทศจีนที่มีจีดีพีต่อหัวสูงเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 597,950 บาท) ในปี 2019 ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นเกณฑ์สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และจาก 21st Century Business Herald ระบุว่าจีดีพีต่อหัวไม่เพียง แต่เกี่ยวข้องกับขนาดเศรษฐกิจโดยรวมและจำนวนประชากรที่มีงานทำเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างอุตสาหกรรมของเมืองอีกด้วย เพราะยิ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมได้มากเท่าใดผลผลิตต่อหัวก็จะสูงขึ้นเท่านั้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/02/14/shanghai-highest-gdp-champion-of-china/