ในงานสัมมนาออนไลน์ “รวมพลังขับเคลื่อน 3D Partnership” จัดโดย WORLDDIDAC ASIA เพื่อพัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาระดับโลก ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรมาให้แนวทางเกี่ยวกับการสร้างกำลังคนยุคใหม่
หนึ่งในนั้นคือ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ในพื้นที่อีอีซี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การบริหารทรัพยากรมนุษย์ : แนวทางการพัฒนากำลังคนสู่ทักษะแห่งอนาคต”
“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก” ดร.อภิชาตกล่าว พร้อมอธิบายการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนากำลังคนสู่ทักษะแห่งอนาคต
เรื่องแรกคือ ภูมิรัฐศาสตร์
“ต้องบอกว่าโลกยุคใหม่เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ประเทศโลกตะวันออกได้กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง หลัง 300 ปีผ่านไป จากโครงการ Silk Road เชื่อมโลกของจีน ทั้งทางบกและทางเรือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ มีการก่อรูปความร่วมมือใหม่ๆ ขึ้นมาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และดุลยภาพโลกใบใหม่”
เรื่องที่สอง เทคโนโลยีและคอมมูนิเคชั่น
“ก่อนโควิดระบาด เทคโนโลยีบ้านเราอยู่ในระดับ 2.0-2.5 แต่วันนี้เราอยู่ไม่ได้ในโลกอะนาล็อก เพราะทั้งโลกกลายเป็นดิจิทัล ทำให้เราต้องยกระดับการเปลี่ยนแปลงด้วยความรู้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นออโตเมชั่น โรโบติก เอไอ ไอโอที 5G หรือการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำไปสู่เรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมที่จะต้องผสมกลมกลืนควบคู่กับทุนมนุษย์ เพื่อสร้างผลิตภาพ ความก้าวหน้า การเรียนรู้ใหม่ และโลกใบใหม่ที่สื่อสารอย่างไร้ขีดจำกัด”
เรื่องที่สาม ภูมิเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจวันนี้เปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมในโลกใบเดิมเคยใช้เทคโนโลยีระดับ 1-2 แต่โลกวันนี้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่สูงกว่านั้น ทั้งเรื่องแพลตฟอร์มบิสิเนส อีโคซิสเต็มส์บิสิเนส และ โอเปอร์เรชั่นบิสิเนส ทั้ง 3 ตัวคือการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ เฟสบุ๊ค อะเมซอน แอปเปิล เน็ตฟลิกซ์ กูเกิล เทสลา เพย์พาล สเปซเอ็กซ์ หัวเว่ย อะลีบาบา เสี่ยวหมี่ ล้วนเติบโตขึ้นเป็นพันเปอร์เซ็นต์ จากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่ยุคแพลตฟอร์มบิสิเนส”
เปลี่ยน Supply Push สู่ demand driven
ประธาน EEC HDC กล่าวว่า การศึกษาและการสร้างทุนมนุษย์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การศึกษาไทยเริ่มต้นในระบบปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ส่งต่อกันมาจนถึงวันนี้ ภายใต้การปรับตัวตามระบบราชการ เน้นเรื่อง IQ และ EQ เป็นหลัก โดยแทบไม่ได้นำเรื่อง AQ (Adversity Quotient) หรือ active skill มาผสมผสาน การปรับตัวของการศึกษายังวนเวียนอยู่ในโลกใบเก่า ไม่ได้เชื่อมต่อกับความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่
“อีอีซีเป็นเขตการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือ อุตสาหกรรม 4.0 เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาใหม่ ให้สอดรับกับความก้าวของโลกที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากระบบเดิม Supply Push คือใช้สถาบันการศึกษาเป็นตัวตั้งและสอนตามหลักสูตรที่ออกแบบโดยสถาบันการศึกษา โดยไม่รู้ว่าเด็กที่จบออกไปจะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมหรือเปล่า เป็น demand driven คือสำรวจความต้องการของอุตสาหกรรมก่อน แล้วผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มในเรื่องของภาษา เพราะการสื่อสารในโลกยุคใหม่มีความจำเป็น นอกจากภาษาไทยแล้วต้องสื่อสารเพิ่มได้อย่างน้อยอีก 2 ภาษาคือภาษาอังกฤษ และภาษาธุรกิจ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยทำความร่วมมือกับสถาบันสอนภาษาในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงปรับการเรียนในรูปแบบสตรีมศึกษา บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะเข้าด้วยกัน เรียนโค้ดดิ้งเพื่อเสริมศักยภาพการทำงานในอนาคต เป็นต้น”
เรียนอย่างไรให้ได้งาน
เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไป การใช้ทักษะเก่าๆ มายกระดับเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ใหม่ให้ชัดเจน ในอีอีซีมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่จึงต้องมุ่งเป้าไปใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยประมาณการว่าภายใน 5 ปี (รวม 2 ปีที่ผ่านมา) 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่อีอีซีจะต้องใช้บุคลากร 475,668 คน เมื่อเกิดวิกฤตโควิดก็ทบทวนข้อมูลเหล่านี้อีกครั้ง พบว่ายังมีความต้องการเท่าเดิม แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษาประมาณ 53% ที่เหลือเป็นระดับ ปวส.และปริญญาตรี
“การศึกษาแนวใหม่ในพื้นที่อีอีซีต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 คือการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชียวชาญในสาขานั้นๆ อย่างแท้จริง เช่น วิทยาลัยอาชีวะ 1 แห่งมีการเรียนการสอน 10 สาขาวิชา ก็ไปสำรวจดูว่ามีสาขาที่มีความเป็นเลิศ (Excellent center) กี่สาขา เช่น มี 5 สาขาก็เปิดแค่ 5 สาขา ส่วนที่เหลือก็ยุบรวมหรือกระจายไปให้วิทยาลัยอาชีวะแห่งอื่นที่มีฐานความเก่งในเรื่องนั้นๆ จัดการเรียนการสอนแทน ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยก็ปรับโครงสร้างให้เป็นแบบ demand driven คือจับคู่การศึกษากับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทำงานอยู่กับภาคปฏิบัติ ต้องปรับปรุงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่มหาวิทยาลัยไม่ได้ปรับตามนั้น เราปรับการศึกษาตามระบบระเบียบราชการ เราจึงนำอุตสาหกรรมมาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เป็นการเรียนแบบ univertory คือ university+factory สร้างประสบการณ์ใหม่ ปรับระบบหลักสูตรให้เป็นแบบโมดุล สนับสนุนให้เกิดระบบโรงเรียนในโรงงาน หรือ โรงงานในโรงเรียน เช่นการเชิญ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC มาสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีอีซี โดยภาคอุตสาหกรรมลงทุนสร้างโรงงานในโรงเรียน สร้างหลักสูตรในเชิงสมรรถนะ ยกระดับทักษะและพัฒนาความรู้ไปพร้อมกัน เรามีระบบ EEC network center ทำระบบเครดิตแบงก์ นักศึกษาสามารถนำการฝึกอบรมระยะสั้นมาเทียบเป็นหน่วยกิตได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเรียนจบ ปวช.จะเรียนต่อระดับปวส.-ปริญญาตรี ก็สามารถนำประสบการณ์ในสายงานมาเทียบหน่วยกิตแล้วเรียนอีกระยะหนึ่งก็จบปริญญาตรีได้ เป็นแนวทางใหม่ที่เราพัฒนาขึ้นมา” ดร.อภิชาต กล่าว
เรียน 3 แบบจบแล้วมีงานทำทันที
กลยุทธ์ที่น่าสนใจของการศึกษายุคใหม่ในพื้นที่อีอีซี นอกจากการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จัดหมวดหมู่สาขาวิชาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับกำลังคนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตแล้ว ยังมีการจัดทำระบบการศึกษาใน 3 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย
EEC Model Type A เป็นความร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันการศึกษา ออกแบบหลักสูตรให้เป็นไปตามแนวทางที่อุตสาหกรรมต้องการ มีการเรียนการสอนทั้งในโรงเรียนและโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการจะออกค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก จบมาแล้วรับเข้าทำงานทันที โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้
EEC Model Type B การพัฒนายกระดับบุคลากรด้วยหลักสูตรระยะสั้นของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการยกระดับทักษะบุคลากร หรือนักศึกษาที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีเงื่อนไขว่าสถาบันการศึกษาต้องออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เน้นหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชั้นสูง เมื่อหลักสูตรผ่านการพิจารณา อีอีซีจะออกค่าใช้จ่ายให้ 50% ผู้ประกอบการออก 50% โดย 50% ที่ผู้ประกอบการออกมานั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
อีกหนึ่งโครงการคือ EEC education model การพัฒนาแบบยกระดับทั้งอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งต้องการคน 10,000 คน 18 สาขาวิชา ก็มาทำข้อตกลงกัน อีอีซีจะจัดสถาบันการศึกษาเข้าไปร่วมสร้างหลักสูตรให้ตรงตามวัตถุประสงค์
ต้นแบบทรานส์ฟอร์มทักษะยุคใหม่
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ผู้นำที่ปรึกษาด้านแรงงานเชิงนวัตกรรม ให้มุมมองสำหรับแนวทางการจัดการแรงงานอนาคตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า สิ่งแรกคือการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับ EEC Model ซึ่งเชื่อมกับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต่อมาคือการพัฒนาทางด้านการศึกษาในระดับความรู้ขั้นพื้นฐานที่กระจายได้อย่างเท่าเทียมกันและทันสมัยกับโลกปัจจุบัน รวมทั้งทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยมีความเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในจุดนี้ พร้อมยังเสนอแนวทางการร่วมสร้างเครือข่ายระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาในการผลิตบัณฑิตได้ตรงกับความต้องการยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายส่วนที่ต้องสอดคล้องและรองรับการก้าวสู่โลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเทคโนโลยี 5G มากขึ้น ในการนำพาแรงงานของไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศกำลังส่งสัญญาณดีขึ้น หากตั้งรับอย่างทันท่วงทีด้วยความร่วมมือจากทุกคนและทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป มองว่า หากพื้นที่อีอีซีสามารถเป็นพื้นที่นำร่องในการทรานส์ฟอร์มระบบการศึกษาและการพัฒนาคนยุคใหม่ EEC Model จะเป็นแบบอย่างในการขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้ต่อไป
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/10/24/eec-hdc-global-skills-personnel-building-strategy/