Meta พัฒนาระบบเซ็นเซอร์ผิวสัมผัส เพื่อให้รู้สึกถึงการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในโลก

Share

Loading

“เราได้ออกแบบเซ็นเซอร์ผิวสัมผัสที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเข้าใกล้โลกของวัตถุเสมือนจริงและการโต้ตอบทางกายภาพใน Metaverse ได้อีกขั้นหนึ่ง”

นี่คือข้อความจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO ของ Meta (Facebook) ที่ได้ออกมาโพสต์ข้อความอัปเดต เกี่ยวกับโครงการ Metaverse ที่เขากำลังมุ่งมั่นทำให้มันเกิดขึ้นจริง

ซึ่งการอัปเดตล่าสุดนี้ เกี่ยวกับระบบสัมผัสของเซ็นเซอร์และวัสดุพลาสติกใหม่ ที่จะสามารถทำงานร่วมกับ Metaverse ที่ทางบริษัทกำลังพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำให้ Metaverse มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Meta ได้สร้าง “ผิวหนังพลาสติก” ที่สามารถเปลี่ยนรูปได้ และมีความหนาน้อยกว่า 3 มิลลิเมตร

โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จาก Carnegie Mellon University

ซึ่งวัสดุนี้ถูกเรียกว่า “ReSkin” โดยจะมีอนุภาคแม่เหล็กอยู่ภายใน ที่ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กที่ใช้รับความรู้สึกเวลาสัมผัสสิ่งต่าง ๆ

เมื่อผิว Reskin ได้สัมผัสกับพื้นผิวต่าง ๆ สนามแม่เหล็กจากอนุภาคที่ฝังอยู่จะเปลี่ยนไป เซ็นเซอร์จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก ก่อนที่จะป้อนข้อมูลไปยังซอฟต์แวร์ AI ที่จะพยายามทำความเข้าใจแรงหรือการสัมผัสดังกล่าว

ทั้งนี้ ระบบ ReSkin ได้ถูกทดสอบโดยการถือผลไม้เบา ๆ เช่น องุ่น, บลูเบอร์รี และวิธีอื่น ๆ

โดยจะต้องผ่านการเทรนด์และทดสอบกว่า 100 ครั้งในการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่ามีข้อมูลเพียงพอ ที่ระบบ AI จะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กแต่ละรูปแบบ สัมพันธ์กับการสัมผัสอย่างไร

โดยทางคุณ Abhinav Gupta นักวิทยาศาสตร์การวิจัยของ Meta กล่าวถึงเหตุผลของงานวิจัยครั้งนี้ว่า

“นักวิจัย AI ส่วนใหญ่ละเลยระบบสัมผัสไปมาก เนื่องจากเซ็นเซอร์ระบบสัมผัสมีราคาแพง หรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้”

คุณ Gupta อธิบายเสริมว่า ถ้าคุณคิดว่ามนุษย์หรือทารกเรียนรู้อย่างไร สิ่งที่เราก็รู้กันดีอยู่แล้ว ก็คือประสาทสัมผัสทั้ง 5 ประกอบด้วย การมองเห็น, เสียง, สัมผัส, รส และกลิ่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการด้านความเข้าใจโลกของมนุษย์

แต่หากมองย้อนมาที่พัฒนาการของ AI ในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาด้านการมองเห็น, เสียง, คำพูด และอื่น ๆ แต่ระบบการสัมผัส ซึ่งเป็นอะไรที่สำคัญมาก กลับถูกลืมไปเลย

ดังนั้น การช่วยให้หุ่นยนต์ผู้ช่วยหรือแม้กระทั่งเครื่องจักรกล เข้าใจการสัมผัสในรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นการทำให้พวกมันเข้าใจได้ว่า มนุษย์กำลังทำอะไร

ซึ่งเราจะทำแบบนั้นได้ ผ่านระบบสัมผัสของ ReSkin นี้เอง ที่สามารถตรวจจับแม้กระทั่งวัตถุที่มีขนาดเล็ก หรือน้ำหนักเบามาก ๆ ได้

นอกจากนี้ ReSkin ยังสามารถเข้ามาสนับสนุนการเกิด Metaverse เพื่อสร้างวิวัฒนาการแห่งอินเทอร์เน็ตในยุคถัดไป โดย Metaverse ในความหมายของบริษัท Meta คือ โลกเสมือนจริงที่เราสามารถใช้ชีวิต, ทำงาน, เข้าสังคม, สื่อสาร, เล่นเกม และทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายใน Metaverse ได้

ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง “Ready Player One” หรือแม้แต่อนิเมะเรื่อง Sword Art Online และ Sword Art Online The Movie ก็เป็นตัวอย่างที่อธิบายเรื่องของ Metaverse ได้เป็นอย่างดี  

หากความทะเยอทะยานในเรื่อง Metaverse และระบบเซ็นเซอร์ผิวสัมผัส ของ Meta บรรลุผล

ก็อาจเป็นไปได้ที่เราจะโต้ตอบกับวัตถุเสมือน และรู้สึกถึงการตอบสนองทางกายภาพ กับวัตถุเสมือนนั้น ๆ ผ่านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น ReSkin ได้ในอนาคต

คุณ Gupta กล่าวว่า “เมื่อคุณสวมชุดแว่นตา VR ของ Meta

คุณย่อมต้องการระบบสัมผัสที่ดี เพื่อให้รู้สึกได้ถึงประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เวลาเข้าไปในโลกอีกใบ

ดังนั้น ลองคิดดูว่า คุณจะมีประสาทสัมผัสที่ดีได้อย่างไร เว้นแต่ระบบ AI ที่ตอบสนอง จะรู้ว่ามนุษย์มีสัมผัสแบบไหน หรือคุณสมบัติทางวัตถุคืออะไร”

จากเรื่องทั้งหมดนี้ ก็เป็นไปได้ว่า Meta อาจจะนำ ReSkin มาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ เช่น แว่น AR และแว่น VR เพื่อทำให้ประสบการณ์การเข้าไปอยู่ในโลก Metaverse นั้น สมจริงในทุก ๆ องค์ประกอบ

จนบางที เราอาจแยกไม่ออกเลยว่า นี่เรากำลังอยู่ในโลกจริง (Real World) หรือโลกเสมือน

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4422103871215303/