Emergency Services : Emergency Number

Share

Loading

สวัสดี เพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ และแล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็ประกาศเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้การดำเนินชีวิตในแบบปกติให้ COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินหน้าหลังจากการเผชิญหน้ากับสงครามโรคระบาด ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่มีใครในประเทศ ไม่ได้รับผลกระทบ และเช่นเดียวกัน ก็ไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เราจึงต้องอยู่กับเค้าภายใต้มาตรการ ปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting)

ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่เราเริ่มประสบกับปัญหาการแพร่ระบาด พร้อมกับปัญหาเรื่องของการหาเตียงสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโรค COVID-19 อย่างหนัก ท่านผู้อ่านจะได้รับข่าวสารเรื่องสายด่วนหรือหมายเลข 1669, 1668, 1330 เพื่อเป็นสื่อกลาง ในการประสานงานกับรถรับ-ส่งผู้ป่วย โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Community Isolation สถานที่หรือพื้นที่ประเภทอื่นๆ แล้วแต่จะเรียกกัน ในขณะนั้น ซึ่งผู้เขียนอยากจะบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่หดหู่มากที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง

ซึ่งทำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าหมายเลขสายด่วนในประเทศไทยมีจำนวนเยอะมาก แต่เป็นเลขหมายที่ผู้โทรเข้าต้องการข้อมูล เพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ขอคำปรึกษาแนะนำและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ในการหาเตียง ในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด หมายเลขทั้งหมดต้องเสียค่าบริการ ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน 191 หมายเลขเดียวที่ผู้โทรเข้าไม่ต้องเสียค่าบริการ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนได้ออกมากดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งมีประกาศให้หมายเลข ดังต่อไปนี้

1330 สายด่วน สปสช. บริการให้ข้อมูลด้านหลักประกันสุขภาพ (สิทธิบัตรทอง)

1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค                            

1646 สายด่วนศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม.

1668 สายด่วนกรมการแพทย์ เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ

1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

1506 สายด่วนสำนักงานประกันสังคม

1111 สายด่วนสำนักนายกรัฐมนตรี

โทรฟรีได้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

กลับมาเข้าเรื่อง Emergency Number (เลขหมายฉุกเฉิน) กันนะครับ ผู้เขียนได้เคยนำเสนอเลขหมายฉุกเฉิน 112 ของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวมถึง อัลแบเนีย จอร์เจีย มอลวาโด ไอซแลนด์ มอนเตเนโกร นอร์เวย์ เซอร์เบีย สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี และเลขหมายฉุกเฉิน 911 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อรองรับการปฏิบัติงานคือ EENA (The Euro Emergency Number Association) ของสหภาพยุโรป และ NENA (National Emergency Number Association) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดมาตรฐานสากลในการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุด้านอาชญากรรม เหตุทางการแพทย์ เหตุเพลิงไหม้ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีโดยติดต่อไปที่เลขหมายเดียวเท่านั้น

ในประเทศไทย มีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 หมวด 1/1 เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้กำหนดให้หมายเลข 191 เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน  ทั้งนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดนิยามความหมายคำ เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงไว้ดังนี้

“เหตุฉุกเฉิน” หมายความว่า เหตุด่วนหรือเหตุร้ายที่ผู้ประสบเหตุประสงค์แจ้ง เพื่อขอรับความช่วยเหลือเป็นการด่วนเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตรายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือ เหตุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นการด่วน

“ผู้แจ้ง” หมายความว่า ผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อขอรับความช่วยเหลือหรือระงับเหตุฉุกเฉิน

“ผู้รับแจ้ง” หมายความว่า ผู้ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

ซึ่งเจตนารมณ์ตามการศึกษาของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในการให้บริการของเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ 191 เพื่อการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินรายวันครอบคลุมทั้ง ๓ ประเภท คือ อาชญากรรม การแพทย์ และเพลิงไหม้ (ตามคำนิยามของเหตุฉุกเฉินสากล) ในขณะเดียวกันมุมมองและความคิดของคำว่า “เหตุฉุกเฉิน” ที่หลากหลาย ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันและอาจจะทำให้ภารกิจในการช่วยเหลือเป็นการด่วนอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์

จากประสบการณ์ของผู้เขียน “เหตุฉุกเฉิน” คือ เหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นรายวัน (day to day operation) และจะถูกยกระดับเมื่อเหตุลุกลาม ขยายวงกว้างและต้องใช้สรรพกำลังรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มากขึ้นเป็น “สาธารณภัย” (Public Disaster) ซึ่งจะมีหน่วยงานหลักคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่มีขอบข่ายความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเข้ามารับผิดชอบเหตุการณ์ และเพื่อให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะต้องโครงสร้างอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยร เจ้าพนักงาน และอาสาสมัคร ในการปฏิบัติการร่วมกันกับจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดนิยามความหมายคำ ในการอ้างอิงไว้ดังนี้

“สาธารณภัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติมีผู้ทําให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ และให้หมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย

ก่อนหน้าวิกฤตการแพร่เชื้อโรคระบาดโควิด ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านจะคุ้นเคยกับการแจ้งเหตุไม่ว่าจะเป็นเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วน เหตุร้าย ไปที่เลขหมาย 191 หรือ 1669  

ก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคระบาด COVID-19 ผู้เขียนเชื่อว่าถ้ามีการประสบพบกับเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วน เหตุร้ายประเภทไหนก็แล้วแต่ เราจะแจ้งเลขหมายที่คุ้นเคย ได้แก่ 191 หรือ 1669 (เลขหมายอื่นๆ ประชาชนอาจจะนึกถึงเป็นลำดับถัดไป) แล้วในช่วง COVID-19 เลยได้รับรู้เลขหมายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกหลายเลขหมายจนจำกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว พบกันใหม่ฉบับหน้า ขอให้ท่าผู้อ่านทุกท่านโชคดี รักษาระยะห่างพร้อมป้องกันตัวเองและผู้ใกล้ชิดด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ลดการสัมผัสพื่อความปลอดภัยนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง

https://thestandard.co/covid-free-setting/
https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=117
https://www.thansettakij.com/general-news/489043
https://eena.org/
https://www.nena.org/