เจ้าสิ่งประดิษฐ์แปลกตาสิ่งนี้คือ ‘MechanicalTree’ มองยังไงก็ไม่เหมือนต้นไม้ แต่คุณสมบัติของมันช่างน่าทึ่ง เพราะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วกว่าต้นไม้จริงถึง 1,000 เท่าเลยทีเดียว
MechanicalTree หรือต้นไม้ประดิษฐ์อัจฉริยะ รูปร่างยาว สูง 10 เมตรนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ หากใช้สิ่งประดิษฐ์นี้ 12 ต้น จะจับคาร์บอนได้มากถึง 1 เมตริกตันต่อวัน หรือราว 1 พันกิโลกรัม
บริษัทผู้พัฒนาอย่าง Carbon Collect ตั้งเป้าให้สิ่งประดิษฐ์นี้ ช่วยต้นไม้จริงทำหน้าที่ลดมลภาวะ ซึ่งโดยปกติแล้วต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งๆ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ไม่มากนัก และกว่าต้นไม้แต่ละต้นจะเติบโตได้นั้น ต้องใช้เวลานานหลายปี ในขณะที่การทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในแต่วัน กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราที่แซงหน้าเกินกว่าที่ต้นไม้จะช่วยดูดซับได้ทัน
นี่จึงเป็นเป้าหมายของ MechanicalTree ในการช่วยเหลือโลกใบนี้และช่วยนำคาร์บอนกลับไปใช้ประโยชน์ กลไกการทำงานของมันใช้ระบบ Direct Air Capture ดักจับก๊าซคาร์บอนที่พัดผ่านมากับลม ภายในจะมีเข้าสู่แผ่นดูดซับนับร้อยเรียงตัวอยู่ในท่อสูง 10 เมตร โดยสามารถขยายตัวและหดตัวกลับได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอากาศเติมเข้าไปจนเต็ม กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ส่วนล่างของต้นไม้ประดิษฐ์อัฉริยะ จะมีกลไกเครื่องจักรที่จะปล่อยอากาศคืนสู่ภายนอก พร้อมทั้งแยกก๊าซคาร์บอนและออกซิเจนออกมา ด้วยกระบวนการทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนบริสุทธิ์ 95% สามารถนำเอากลับมาหมุนเวียนใช้งานได้ใหม่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย ช่วยประหยัดต้นทุนเกี่ยวกับคาร์บอนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ทางบริษัทผู้ผลิตวางแผนสร้าง ‘ฟาร์มคาร์บอน’ จากต้นไม้อัจฉริยะนี้หลายฟาร์มด้วยกัน เริ่มจากฟาร์มขนาดเล็ก หากมี 1,200 ต้น จะสามารถดักได้ 100 เมตริกตันต่อวัน พร้อมวางแผนขยายไปเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เพิ่มกำลังการผลิต MechanicalTree ให้ได้สูงสุดถึง 120,000 ต้น
ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง คาดว่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 10,000 เมตริกตันต่อวัน เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนจากรถยนต์ในแต่ละวันราว 800,000 คันเลยทีเดียว อีกทั้งบริษัทยังตั้งเป้าให้มีมากกว่า 250 ฟาร์มทั่วโลก โดยรวมแล้วจะสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนได้นับหลักล้านเมตริกตันต่อวัน
ต้นไม้ประดิษฐ์อัจฉริยะนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวังในการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยลดมลภาวะจากน้ำมือของมนุษย์ได้มาก เป็นการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้บริษัทผู้พัฒนากำลังมองหาพันธมิตร และพัฒนาหากลยุทธ์เพื่อขยายการติดตั้งฟาร์มขนาดใหญ่เหล่านี้ต่อไปในอนาคต
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/109785344593658/posts/262053739366817/