แม้ว่าทุกวันนี้เราจะถูกล้อมรอบไปด้วย “ข้อมูลจำนวนมหาศาล” แต่ข้อมูลเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะถูกทิ้งร้างให้เลือนหายไปในกาลเวลา โดยที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ แม้กระทั่งข้อมูลที่เคยสำคัญและมีความหมายก็ตาม
หากลองย้อนกลับไปดู และตั้งใจฟังสิ่งที่ข้อมูลกำลังจะบอกให้ดีๆ คุณอาจจะเห็นความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในนั้นก็ได้…
อย่างเช่นผลงาน Data Art ชื่อว่า “Call me Adele” ของวิภาวี ศิริกลการ นักออกแบบสาวที่นำข้อความสนทนากับแฟนเก่าคนไทยที่คบกันมากว่า 4 ปี มาเปลี่ยนให้เป็นศิลปะแบบ Text Analysis
…
เมื่อความรักทางไกลจบลง เหลือไว้แต่เพียงข้อความที่มีความหมายจำนวนมาก วิภาวีจึงตัดสินใจนำข้อมูลเหล่านี้มาเล่าเรื่องในการบ้านวิชา Data Art ในขณะที่เธอเรียนอยู่มหาวิทยาลัย New York University
โดยเธอเลือกหยิบ 3 มุมมองที่ได้จากชุดข้อมูลข้อความมา Visualize เป็นภาพ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วง 4 เดือนแรก กับ 4 เดือนสุดท้ายของความสัมพันธ์ออกมาดังนี้
มุมมองที่ 1 : เรียกชื่อฉัน (Say my name)
เธอใช้การเรียกชื่อกันแต่ละครั้งในการคุย มาแทนด้วย “จุดวงกลม” หากแฟนหนุ่มเรียกชื่อเธอด้วยชื่อเล่นตลกๆที่ตั้งกันเอง จะแทนด้วยจุดสีดำ แต่ถ้าเรียกชื่อเธอด้วยชื่อจริง เช่น คุยเรื่องที่จริงจัง จะแทนด้วยจุดสีแดง
มุมมองที่ 2 : ใครพิมพ์หากัน (Needy one)
ภาพชุดนี้เธอใช้ความถี่ในการพิมพ์หากันมาแสดง โดยทุกครั้งที่แฟนพิมพ์ เธอจะแทนด้วย “วงกลม” ส่วนทุกครั้งที่เธอพิมพ์จะแทนด้วย “เส้นตรง” ซึ่งภาพที่ออกมาได้แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน และเล่าเรื่องราวได้ดีมากๆ
มุมมองที่ 3 : พูดเรื่อยเปื่อย (Rambles)
ภาพชุดสุดท้ายเธอได้ลองใช้จำนวนคำที่คุยกันมาเปรียบเทียบกันดู โดยแทนคำที่เธอพิมพ์ด้วย สีเทา แทนคำที่แฟนพิมพ์ด้วย สีดำ และใช้ความสูงของเส้นแทนจำนวนคำ
สิ่งที่เธอพบคือ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณคำอย่างมาก ช่วง 4 เดือนแรกพื้นผิวของภาพจะมีความเข้มข้น ส่วนช่วง 4 เดือนหลังกลับเป็นภาพของพื้นผิวที่ว่างเปล่าและไม่ซับซ้อน
หากเพื่อนๆอยากเห็นผลงานชิ้นนี้ และอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านกันได้ที่บทความของเธอที่ลิงก์นี้เลย :
https://medium.com/@wipaweeeeee/call-me-adele-f37162b6ffe5
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/103882544530473/posts/470254557893268/