นครฉงชิ่ง (Chongqing) มหานครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่ 82,300 ตารางกิโลเมตร ในมณฑลเสฉวน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของแผ่นดินใหญ่ รองจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และกวางโจว โดยเป็น 1 ใน 4 ของนครปกครองโดยตรงของรัฐบาลกลางนั่นเอง
นครปกครองโดยตรง (Direct-controlled municipalities) หรือ เทศบาลนคร ถือเป็นระดับสูงสุดของการจำแนกประเภทของนครที่ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน นครเหล่านี้ปัจจุบันมี 4 แห่ง นอกจากฉงชิ่งแล้วยังมีปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน ซึ่งมีระดับเทียบเท่ากับมณฑล และเป็นเขตการปกครองประเภทหนึ่งในบรรดาเขตการปกครองระดับที่หนึ่งของประเทศจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลาง
ฉงชิ่ง เป็นนครปกครองโดยตรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตามพื้นที่ และเป็นเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากชายฝั่ง โดยฉงชิ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนภายในมณฑลเสฉวน และมีพรมแดนติดกับมณฑลส่านซี หูหนาน และกุ้ยโจว เมืองนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญริมแม่น้ำแยงซี ตลอดจนศูนย์กลางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศจีนมาอย่างยาวนาน
หากเทียบเป็นประเทศ ฉงชิ่งจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 114 ของโลก ใกล้เคียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีพื้นที่มากกว่าหลายประเทศ เช่น เช็ก เซอร์เบีย ปานานา ไอร์แลนด์ จอร์เจีย ศรีลังกา โครเอเชีย ภูฏาน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อิสราเอล คูเวต ฯลฯ และใหญ่กว่าทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยใหญ่กว่านครราชสีมา จังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทยถึง 4 เท่า
ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 3,000 ปี ของฉงชิ่ง ทำให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางตะวันตกของจีน โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม “เมืองบนภูเขา” เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ขรุขระและช่องเขาสูงชัน เป็นเหตุให้ย่านที่อยู่อาศัยหลายแห่งจึงตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา
ในปี 1891 ฉงชิ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศจีน เนื่องจากเป็นเมืองแรกที่เปิดให้ค้าขายนอกประเทศจีน โดยส่วนหนึ่งของการพัฒนาในช่วงต้นของฉงชิ่งในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนนั้น สืบเนื่องมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์บนแม่น้ำสายใหญ่ เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ในทำเลทองที่ตัดกับแม่น้ำเจียหลิงและแม่น้ำแยงซี ทำให้สามารถพัฒนาสู่ศูนย์กลางการผลิตและการค้าที่เข้าถึงได้ง่าย
ต่อมาในปี 1929 กลายเป็นเขตเทศบาลของจีน และช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1937 ถึง 1945 กองทัพอากาศญี่ปุ่นได้โจมตีอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม พื้นที่เมืองส่วนใหญ่ของฉงชิ่งได้รับการคุ้มครองจากความเสียหาย เนื่องจากภูมิประเทศที่ขรุขระและเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนดังกล่าว ผลของการปกป้องตามธรรมชาตินี้ ทำให้โรงงานหลายแห่งของจีนย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่ Chongqing ทำให้นครแห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญ จากนั้น ในปี 1954 ฉงชิ่งได้กลายเป็นเมืองย่อยในมณฑลเสฉวน
กระนั้นแม้ฉงชิ่งจะมีขนาดมหึมา แต่ก็ถือเป็นเมืองที่ค่อนข้างใหม่ในแง่ของการที่ถูกรัฐบาลกลางจีนจับแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อปั้นเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก โดยได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในปี 1997 โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1997 ฉงชิ่งถูกรวมเข้ากับเขตใกล้เคียง (ฟูหลิง ว่านเซียน และเฉียนเจียง) และแยกออกจากมณฑลเสฉวนเพื่อจัดตั้งเทศบาลนครหรือนครปกครองโดยตรงดังที่กล่าวมา
นอกจาก พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่โตแล้ว ฉงชิ่งยังมีประชากรจำนวนมากถึง 32 ล้านคน ตามการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 ของจีน ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้มีการเติบโตอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีประชากรเพิ่มขึ้น 11.12% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลดังกล่าว ซึ่งหากเปรียบเป็นประเทศ ฉงชิ่งจะมีจำนวนประชากรมากที่สุดอันดับที่ 45 ของโลก รองจากมาเลเซีย มากกว่าอีกร้อยกว่าประเทศ เช่น เนปาล เวเนซุเอลา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สวีเดน เป็นต้น ทำให้ฉงชิ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือเป็น Megacity ที่มีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน
ในแง่เศรษฐกิจ ฉงชิ่งเป็นเมืองที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ เพราะมีไม่กี่เมืองในประเทศจีนหรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีต่อปีอย่างน้อย 10% เป็นเวลานานกว่าทศวรรษ โดยถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน โดยสร้างรายได้ 2.78 ล้านล้านหยวนจีน (438 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2020 ตามรายงานของสื่อสำนักข่าวซินหัว
ปัจจุบัน ฉงชิ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกของจีน นอกจากนี้ยังมีเศรษฐกิจที่หลากหลายจากอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ อาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันเมืองนี้ยังเป็นแหล่งผลิตรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนด้วย
เมืองนี้เป็นที่ตั้งของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของจีน มากถึง 14 แห่ง เช่น Jingke Holdings ผู้ให้บริการด้านวัสดุและการรวมระบบ Longfor Properties บริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน และ Loncin Holdings ผู้จัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ รวมทั้งรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่บริษัทที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา เช่น Deloitte และ Apple ก็มีสำนักงานอยู่ในเมืองนี้เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้ ฉงชิ่งยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ โดยเป็นที่ตั้งของโครงสร้างล้ำยุคที่โดดเด่นที่สุดของจีน รวมถึงตึกระฟ้าแนวนอนที่ยาวที่สุดในโลก ที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกคือร้านหนังสือ Zhongshuge ขนาด 3,344 ตารางเมตร เป็นเขาวงกตที่คนรักหนังสือและช่างภาพต่างชื่นชอบ และได้รับการยกย่องว่าเป็นร้านหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกโดย Architectural Digest
ขณะเดียวกันก็มีระบบคมนาคมที่แผ่กิ่งก้านสาขาและขยายไปสู่ชนบทอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้ทุกหมู่บ้านมีถนน หลายคนที่อยู่อาศัยในชนบทของฉงชิ่งสามารถเดินทางไปทำงานในเมืองได้อย่างสะดวกสบาย
ขณะที่ในเขตเทศบาลนครฉงชิ่งยังมีสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่ง เจียงเป่ย ศูนย์กลางการบินหลักในภาคกลางของจีน ท่าอากาศยานฉงชิ่ง เซียนน์ฟชาน และ ท่าอากาศยานฉงชิ่ง หวู่ ซาน โดยที่ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่ง เจียงเป่ย รองรับผู้โดยสารมากถึง 45 ล้านคนในปี 2019 ทำให้เป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลกรองจากท่าอากาศยานสิงคโปร์ชางงี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉงชิ่งได้กลายเป็นดาวเด่นของโซเชียลมีเดีย โดยได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Tiktok เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่เพิ่งรู้จักและรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่และทันสมัยของเมืองนี้เป็นครั้งแรก เช่น คลิป Tiktok หนึ่งแสดงให้เห็นถึงกลุ่มรถแท็กซี่สีเหลืองที่จอดเรียงรายเป็นตับที่สนามบินซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 2.5 ล้านครั้ง ขณะที่คลิป Tiktok อีกอันแสดงให้เห็นโมโนเรลที่วิ่งผ่านอาคารที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในฉงชิ่ง ก็ได้รับความนิยมเช่นกันด้วยยอดรับชมมากกว่า 2.2 ล้านครั้ง รวมถึงอีกหลายคลิปที่เกี่ยวกับอาหารเสฉวนอันเลื่องชื่อของเมืองนี้ (ฉงชิ่งเป็นต้นกำเนิดของหม้อไฟมาล่าอันโด่งดังด้วย)
ที่นครฉงชิ่ง มีผู้ประกอบการไทยประกอบธุรกิจจำนวนมาก อาทิ บริษัท Thara Thian ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-จีน ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยธรรมชาติ อาทิ เครื่องนอน ที่รองนั่ง ฯลฯ โดยมีบริษัท Theptex ของไทยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก
โดยที่มหานครที่ใหญ่ที่สุดของจีนนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ ASEAN-Chongqing Center เพื่อรองรับบริการทางเงินให้แก่นักธุรกิจจีนที่ไปทำการค้าและลงทุนในอาเซียนด้วย
แหล่งข้อมูล