สตาร์ตอัปจีน ผลิตจรวดด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยประหยัดต้นทุนได้กว่า 80%

Share

Loading

SpaceTai สตาร์ตอัปจากจีน ได้ทำการพัฒนาเครื่องยนต์และจรวด ที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำกว่า 1 ใน 5 ของต้นทุนเฉลี่ยการผลิตจรวดทั่วไปในปัจจุบัน

โดยถึงแม้ว่า SpaceTai จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทยืนยันว่าสามารถผลิตชิ้นส่วนกว่า 90% ของจรวด ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติของทางบริษัทได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดต้นทุน ทาง SpaceTai ได้ออกแบบและผลิตเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติของทางบริษัทเอง รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์การพิมพ์ และกระบวนการพิมพ์ของบริษัทขึ้นมาเอง

ทั้งนี้ SpaceTai กำลังพัฒนาจรวดที่ชื่อว่า “Xiaoyi” หรือที่แปลว่ามดตัวเล็ก ที่ใช้ออกซิเจนเหลวและน้ำมันก๊าดเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งทางบริษัทบอกว่า ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์นั้น เหนือกว่าเทคโนโลยีวงจรกำเนิดก๊าซ (Gas generator cycle) ที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์

ซึ่งโมเดลที่ 1 และโมเดลที่ 2 ของ Xiaoyi คาดว่าจะมีแรงขับ (Thrust) ที่ช่วยยกจรวดขึ้นไปบนอวกาศ 20 ตัน และ 30 ตัน ตามลำดับ ที่ระดับน้ำทะเล ซึ่งเครื่องยนต์แต่ละรุ่น จะสามารถสร้างได้ภายใน 30 วัน ส่วนในโมเดลรุ่นใหญ่ที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคต อย่าง “Juyi” ที่แปลว่ามดใหญ่ จะมีแรงขับถึง 200 ตัน ที่ระดับน้ำทะเล

อย่างไรก็ดี นอกจาก SpaceTai ก็ยังมีบริษัทในสหรัฐฯ อย่าง SpaceX ของอีลอน มัสก์, บริษัท Rocket Lab, บริษัท Relativity Space

หากมาดูทางฝั่งสหราชอาณาจักร ก็จะมีบริษัท Skyrora และ Orbex ที่กำลังพัฒนาการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในการผลิตจรวดอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ SpaceTai ยังกำลังพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อผลิตลำตัวจรวด โดยสามารถสร้างลำตัวจรวดได้ภายใน 3 เดือน แต่สายการผลิตนั้น ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานในเซี่ยงไฮ้ และบริษัทก็ยังได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับบริการพิมพ์โลหะ 3 มิติ เพื่อเปิดให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้หันมาใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย

ทั้งนี้ ทาง SpaceTai คาดการณ์ว่า ทางบริษัทยังคงต้องการเงินลงทุนอีกว่า 600 ล้านหยวน หรือประมาณ 3,100 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในการวิจัย, พัฒนา รวมถึงการก่อสร้างโรงงานในธุรกิจจรวดและการพิมพ์ 3 มิติ โดยทาง SpaceTai หวังว่าจะส่งจรวดที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2024 และวางแผนที่จะทดสอบการบินแบบ Suborbital ให้ได้ภายในปี 2023

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4831559686936384/