แรงงานไทยพร้อมแค่ไหน ในยุคดิจิทัล

Share

Loading

การมาถึงของยุคดิจิทัลและการพัฒนาของเทคโนโลยี เช่น artificial intelligence, automation, robotics และ Internet of Things ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน การเรียน หรือการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ

ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รวมไปถึงการเริ่มใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านพฤติกรรมต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเอง ธุรกิจจึงมีความต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนไปเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล

แน่นอนว่าการมาถึงของยุคดิจิทัลทำให้งานบางกลุ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้นจากภาคธุรกิจไทย โดยจากรายงาน Future of Jobs Survey 2020 โดย World Economic Forum (WEF) ที่สำรวจผู้บริหารของบริษัทในไทยเมื่อปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึง 5 อาชีพที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นจากธุรกิจไทยในช่วงปี 2563-2568 ได้แก่

– Data Analysts/Scientists

– ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing

– ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data

– ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning

– นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ เป็นอาชีพที่ล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี นอกจากนี้ จากการสำรวจเดียวกันยังพบว่า ธุรกิจไทยมีแผนที่จะนำเทคโนโลยี cloud computing, internet of things, และ e-commerce มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเป็นอันดับแรกๆ ยิ่งทำให้แรงงานที่มีทักษะที่สอดคล้องกับอาชีพและเทคโนโลยีดังกล่าวจะยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วงอนาคตอันใกล้นี้

อาชีพและเทคโนโลยีที่ธุรกิจไทยกำลังให้ความสนใจอยู่นั้น ล้วนต้องการแรงงานที่มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ (Science, technology, engineering, และ mathematics – STEM) ซึ่งแรงงานไทยที่ทำงานในอาชีพกลุ่ม STEM มีอยู่เพียง 2.4% ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2564

นับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อยสอดคล้องกับรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 ที่จัดอันดับให้การจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอยู่ถึงอันดับที่ 58 จาก 64 ประเทศที่อยู่ในการจัดอันดับของ IMD

ทั้งนี้การที่รายได้ (ค่าจ้างรวมโอทีและโบนัสของกลุ่มลูกจ้าง) ของลูกจ้างกลุ่ม STEM สูงกว่ารายได้ของแรงงานกลุ่มอื่นถึงเท่าตัว (2.8 หมื่นบาทต่อเดือน เทียบกับ 1.4 หมื่นบาทต่อเดือน) และการจ้างงานก็เพิ่มขึ้น 1.6% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562

ขณะที่การจ้างงานของลูกจ้างกลุ่มอาชีพอื่นๆ ลดลง -4.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน หากแรงงานสามารถปรับเปลี่ยนทักษะที่ตนมีในปัจจุบันและก้าวเข้าสู่อาชีพสาย STEM ได้ ก็อาจจะได้รับรายได้ที่สูงขึ้นและมีความมั่นคงในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

แม้ว่าการทำงานสาย STEM จะดูดีกว่าทั้งด้านรายได้และการจ้างงานที่น่าจะมีงานรองรับมากกว่าในอนาคต แต่ “ว่าที่แรงงาน” (ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ถึง 24 ปีที่กำลังเรียนและอยู่นอกกำลังแรงงาน) ที่เรียนสาขา STEM มีจำนวนไม่มากและไม่ได้เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ความต้องการแรงงาน STEM มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยว่าที่แรงงานที่กำลังเรียนสาขา STEM มีประมาณ 1.8 แสนคนในปี 2564 ซึ่งจำนวนคนเรียน STEM ที่ค่อนข้างน้อยนี้ อาจทำให้แรงงานที่มีทักษะเพียงพอสำหรับงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบันจะยิ่งขาดแคลนได้ในอนาคต และเป็นอุปสรรคต่อเนื่องไปยังการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยได้

อย่างไรก็ตาม การไม่ได้เรียนสาย STEM ก็ไม่ได้หมายความว่า แรงงานจะไม่สามารถทำงานที่ต้องการทักษะกลุ่มนี้ได้ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สัดส่วนของแรงงานที่ไม่ได้จบสายนี้ แต่ทำงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทักษะ STEM (ผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์) มีอยู่ถึง 38.8% ของการจ้างงานอาชีพ STEM ทั้งหมด

อาจมองได้ว่า ทักษะที่แรงงานได้รับจากการทำงาน รวมถึงการปรับทักษะให้สอดคล้องกับงานที่ทำเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถทำงานสาย STEM ได้ แม้จะไม่ได้รับการศึกษาในระบบก็ตาม ซึ่งจะทำให้ทั้งแรงงานที่ไม่ได้จบ STEM มีรายได้สูงขึ้น โดยคนที่จบไม่ตรงสายแต่ทำงานสาย STEM จะได้รายได้เฉลี่ย 2.5 หมื่นบาท แม้จะน้อยกว่าคนที่จบตรงสายที่มีรายได้ราว 3 หมื่นบาท แต่ก็ยังถือว่ารายได้ดีกว่าอาชีพอื่นโดยเฉลี่ย

อีกทั้ง การสนับสนุนให้เกิดการปรับทักษะของผู้ที่จบไม่ตรงสายมาทำงานด้านนี้ จะเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาด้าน STEM และการขาดแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีแก่ภาคธุรกิจอีกด้วย

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการนั้น ก็ทำให้บางอาชีพเป็นที่ต้องการลดลงด้วยเช่นกัน โดย 5 อาชีพของไทยที่ WEF คาดว่าจะเป็นที่ต้องการลดลงมากที่สุดในช่วงปี 2563-2568 ได้แก่ เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล, เลขานุการ, เสมียนด้านบัญชี, ผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบเครื่องจักร, และคนงานก่อสร้าง

โดยแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วย automation และ robotics เพราะรูปแบบการทำงานที่มีลักษณะเป็นการทำซ้ำๆ (routine work) สอดคล้องกับผลการสำรวจของ WEF ที่พบว่า 78% ของบริษัทไทยได้เลือกให้ “การใช้ automation ในงาน” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะตอบสนองความต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในการทำธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ แรงงานในกลุ่มอาชีพดังกล่าวจึงควรได้รับการปรับ-เพิ่มทักษะ เพื่อให้ยังคงสามารถหางานทำได้หากโดนปลดออกจากงานเดิม และหากพวกเขาสามารถปรับ-เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีได้ ก็จะยิ่งช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่สายงานที่มีรายได้และมั่นคงมากกว่า ทั้งยังช่วยบรรเทาการขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลของไทยได้อีกด้วย

ดังนั้น การปรับเพิ่มทักษะแรงงานในยุคดิจิทัลมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา เพราะการเปลี่ยนไปทำงานสายเทคโนโลยีนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายนักหากไม่มีทักษะมาก่อน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนการปรับ-เพิ่มทักษะที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ด้านแรงงานก็ต้องตระหนักว่าทักษะที่ตนมีอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว และธุรกิจเองก็ต้องคิดหาวิธีปรับทักษะพนักงานของตนให้สอดคล้องกับงานที่กำลังเปลี่ยนไป

โดยการปรับเพิ่มทักษะแรงงานให้ประสบความสำเร็จต้องมีทั้งการใช้ online platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงการฝึกทักษะได้ทุกที่และทุกเวลา และการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ซึ่งจะช่วยทำให้การจัดทำหลักสูตรการปรับ-เพิ่มทักษะของแรงงานมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการสร้างค่านิยม life-long learning ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ที่จะทำให้แรงงานมีความต้องการปรับ-เพิ่มทักษะของตนเองให้สอดคล้องกับอาชีพตลอดชีวิตการทำงาน

นอกจากนี้ ยังควรช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงการปรับ-เพิ่มทักษะของผู้ที่สนใจแต่เข้าถึงไม่ได้ (เช่น กลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือกลุ่มที่ไม่ทราบช่องทางการสมัครเข้าอบรม) และให้คำปรึกษาแก่ทั้งผู้ที่กำลังปรับ-เพิ่มทักษะและผู้ที่ผ่านการปรับ-เพิ่มทักษะแล้ว เพื่อให้สามารถหางานทำได้ตรงตามทักษะที่มีด้วยเช่นกัน

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/business/feature/2325825