Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24
Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25
Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 เป็น 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.2% จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปี จะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับ 4.9% ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ทันค่าครองชีพ
ขณะที่การเร่งตัวของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ตามการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อสถานการณ์การระบาดโควิด และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมของภาครัฐ จะกระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่
สำหรับภาคธุรกิจ จะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอัตรากำไรที่ลดลง โดยมีแนวโน้มทยอยปรับราคาสินค้าทั่วไป เพื่อส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภคมากขึ้นเป็นลำดับ และชะลอการลงทุนจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น
ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า จะได้รับผลกระทบจากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาด และปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (supply disruption) ที่รุนแรงขึ้น
ในภาพรวม มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 6.1% ในปีนี้ แต่เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ
สำหรับภาคการท่องเที่ยว มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐที่ผ่อนคลายขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับการทยอยเปิดการเดินทางของหลายประเทศในแถบเอเชียจะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน ส่งผลให้ในปีนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 5.9 ล้านคน
ด้านตลาดแรงงาน การฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมือง จะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงาน ที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตร และแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้น จากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก และปัญหาระยะยาว จากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง
ด้านผู้ประกอบการ ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรม ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของธุรกิจ SME ให้เปราะบางมากขึ้น
จากแนวโน้มดังกล่าว จะทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงาน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปรับลดลงกว่า 10%
ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลก จะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน ที่ยังคงเผชิญปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซา และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบของครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า การขาดดุลงบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
โดย EIC มองว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดาน เช่นในช่วงที่ผ่านมา มีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ
1) เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลัก คือ ครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า
โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรก ได้รับประโยชน์ในเชิงเม็ดเงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่าเทียบกับกลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด
2) การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไป ทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ หากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้
3) ในระยะยาว การอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิล ที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำ และการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการโดยเน้น
– การบริหารราคาพลังงานในลักษณะ Managed Float คือ การทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว
– เสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุด แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ควบคู่กับ
– การสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชน ในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว
ในภาคการเงิน EIC ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น เกินกรอบนโยบายการเงินที่ 1%-3% ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจาก
1) กนง. จะยังให้ความสำคัญกับเป้าหมาย การประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางมากกว่าเป้าหมายอื่น
2) เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า
3) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ในปัจจุบันจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SME จนอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นมาก จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ในภาพรวม อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยระดับ GDP รายปี จะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 2562 จนกระทั่งช่วงครึ่งหลังของปี 2566
นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่
1) ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าคาด จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ที่รุนแรงและเนิ่นนานขึ้น
2) การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่ง ทั้งจากนโยบาย Zero Covid ของจีน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าคาด กระทบต่อการส่งออกของไทย
3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวและผันผวนมากขึ้น
4) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าช้า จากผลกระทบของสงครามและการระบาดโควิดรอบใหม่ และ
5) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติม จากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4908599699232382/