SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซ็นเตอร์สร้างความเสียหายปีละกว่า 1000 ล้านบาท

Share

Loading

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการหลอกลวง SMS และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำร้ายไม่เฉพาะเศรษฐกิจของประเทศ แต่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของเหยื่อ บางรายถึงขั้นล้มละลาย หรือฆ่าตัวตาย ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลหลักยังล้าหลัง ไม่สามารถเท่าทันกลลวง ไม่สร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ และไม่รวมพลังกันขับเคลื่อนการป้องกันภัยให้ประชาชนได้อย่างพอเพียง

ในเวทีเสวนาออนไลน์ “นักคิดดิจิทัล ร่วมหาทางออกแก้ปัญหามิจฉาชีพยุค 5G” ที่จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคีโคแฟคประเทศไทยได้นำเสนอปัญหาฉ้อโกงผู้บริโภคผ่าน SMS และระบบโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นในทุกปี และร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐรวม ถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล เร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พร้อมออกมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมดูแลตรวจสอบผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด ทั้งยังต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นข้อความเตือนให้ระวังมิจฉาชีพก่อนโอนเงิน และเร่งสร้างความตระหนักรู้เตือนภัยแก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เปิดช่องทางที่ร้องเรียนให้มากขึ้น พร้อมป้องกัน แก้ไข ระงับปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน ดังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศทั่วโลกให้ความตระหนักและคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดมาตรการ พร้อมเร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลยังขาดมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้น ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหามิจฉาชีพยุคดิจิทัลและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันนั้น ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องการขับเคลื่อนปัญหาดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าขั้นวิกฤติ โดยมีข้อมูลของลูกค้าองค์กรระดับชาติและระดับโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนหลุดออกมา รวมถึงการที่หลายองค์กรนำข้อมูลของลูกค้าออกมาขาย ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ให้เห็นอยู่ทุกวัน

แม้ว่าโลกดิจิทัลจะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็นำมาซึ่งการหลอกลวง ฉ้อโกงได้เช่นกัน ดังนั้น การร่วมมือกับหลายภาคส่วนในเวทีเสวนาครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะระดมความคิดเพื่อเร่งแก้ปัญหามิจฉาชีพเหล่านี้ให้ได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ จากการสำรวจของฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม ของสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 – เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,130 คน สามารถสรุปคำนิยามของปัญหา SMS ในปัจจุบันออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

1) SMS กวนใจหรือการได้รับ SMS บ่อยครั้งทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

2) SMS กินเงินหรือการรับ SMS หรือสมัครสมาชิกโดยไม่รู้ตัว

3) SMS หลอกลวงหรือการได้รับ SMS แอบอ้างที่ส่งมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมักแอบอ้างหน่วยงานใหญ่ ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มักมาในรูปแบบ SMS ให้กู้เงินหรือการแจ้งสถานะบัญชี รวมถึงการชักชวนให้เล่นการพนัน

นอกจากนี้ที่พบบ่อยครั้งคือ การกดดันให้ผู้บริโภคตอบรับ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสูญเสียข้อมูลความเป็นส่วนตัวหรือทรัพย์สิน

การสำรวจยังระบุอีกว่า เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคมักเจอกับปัญหา SMS มากที่สุด คือ

AIS ร้อยละ 51.6

TRUE ร้อยละ 36.3

DTAC ร้อยละ 31.3

และ NT ร้อยละ 2.4 

โดยปัญหา SMS กวนใจหรือกินเงิน มักนำเสนอมาในรูปแบบการเสนอข่าวสารหรือข้อมูลดูดวง ที่มีการเรียกเก็บค่าบริการ

ในส่วนของ SMS หลอกลวง ก็มักแจ้งว่าได้รับรางวัลหรือเชิญชวนให้ลุ้นโชค ส่งผลให้เกิดการเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงการนำข้อมูลส่วนตัวไปทำการเผยแพร่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนวิตกกังวล รวมถึงการสร้างความอับอายด้วย

สำหรับวิธีการแกัปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 วิธี

หนึ่งคือ การกด *137 ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ายุ่งยากและใช้เวลา

รองลงมาคือ การติดต่อคอลเซ็นเตอร์ เพื่อแจ้งหน่วยงานรับเรื่องการร้องเรียนของแต่ละองค์กร

และวิธีสุดท้ายคือร้องเรียนสายด่วน กสทช.

ซึ่งผู้บริโภคมากถึงร้อยละ 52.6 ที่ไม่พอใจกับการติดต่อผ่าน 3 ช่องทางดังกล่าว โดยผู้บริโภคเห็นพ้องกันว่า กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายอย่างเข้มงวด

ในทางกลับกัน ก็ต้องการให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ควรจัดทำข้อเสนอต่อ กสทช. ให้กำหนดแนวทางแก้ไข พร้อมเสนอมาตรการกำกับดูแล และเสนอให้เร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์บริโภคผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ ของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นว่า มิจฉาชีพยุค 5G มักใช้ความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อหลอกเอารหัส OTP ไปใช้ทำธุรกรรมด้านการเงิน จนทำให้กระทบถึงข้อมูลเครคิตบูโร ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

ด้านปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อ้างเหตุพัสดุตกค้าง ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้พยายามประชาสัมพันธ์เบอร์มิจฉาชีพที่ควรเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคได้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากมิจฉาชีพปัจจุบัน ได้ดำเนินการในรูปแบบองค์กรและมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์อยู่ในต่างประเทศ ทำให้ยากที่จะติดตาม ซึ่งพบว่าเงินที่ถูกหลอกให้โอนไปที่บัญชีม้านั้น จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นภายใน 15 วินาทีเท่านั้น และจะถูกโอนไปอีกหลายชั้น เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ บางรายไปจบที่การนำเงินเหล่านั้นไปใช้ซื้อบิตคอยน์ ทำให้โอกาสที่จะได้รับเงินคืนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก

ดังนั้นจึงแนะนำให้ก่อนทำการโอนเงิน ผู้บริโภคควรเข้าไปตรวจสอบบัญชีปลายทางได้ที่เว็บไซต์ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์ เช็คชื่อและเลขบัญชีก่อนซื้อขาย เพื่อป้องกันการโดนโกง

หากผู้บริโภคถูกหลอกจากลุ่มมิจฉาชีพ ก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือจะเลือกดำเนินการผ่านระบบออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยผู้เสียหายต้องรีบดำเนินการภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสในการอายัดบัญชีลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์

สำหรับรวมสถิติการเกิดอาชญากรรมโลกไซเบอร์ ณ ปัจจุบัน ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย บริษัทผู้พัฒนาแอป Whoscall กล่าวถึงรายงานเกี่ยวกับภาพรวมมิจฉาชีพออนไลน์ในไทย และมุมมองปัญหาดังกล่าวจากทั่วโลกว่า ตลอดปี 2563 – 2564 ประเทศไทยมียอดโทรศัพท์หลอกลวง เพิ่มสูงถึง 270% ในขณะที่ยอด SMS หลอกลวง มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงถึง 57% โดยรูปแบบการหลอกลวง จะมาในหลากหลายแบบ เช่น หลอกให้ลงทุน หลอกว่ามีงานให้ทำ หลอกปล่อยเงินกู้

ซึ่งส่วนนี้ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอป Whoscall ที่ช่วยระบุเบอร์โทรที่ไม่รู้จัก ว่ามีการเกี่ยวพันกับการหลอกลวงหรือไม่ก่อนรับสาย โดยเบอร์มิจฉาชีพเหล่านั้นจะถูกผู้ใช้บริการแอป Whoscall ส่งเบอร์หลอกลวงเหล่านั้นเข้ามารายงาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4916748811750804/