หลายคนน่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ Starlink ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก
รู้ไหมว่า Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของ เจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกก็มีโครงการที่คล้าย ๆ กัน มีชื่อว่า “Project Kuiper” และเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2019
และความคืบหน้าล่าสุด Amazon เตรียมส่งดาวเทียมกว่า 3,236 ดวง ขึ้นวงโคจรระดับต่ำ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ลูกค้า, ครัวเรือน, ธุรกิจ, หน่วยงานราชการ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตได้ หรือประสบปัญหาอินเทอร์เน็ตไม่มีคุณภาพ
ซึ่งเรียกได้ว่า Amazon กำลังจะเป็นคู่แข่งกับ Starlink ที่ปัจจุบัน ส่งดาวเทียมขึ้นไปแล้วมากกว่า 2,300 ดวง มีผู้สมัครสมาชิกบริการแล้ว 250,000 ราย และวางแผนส่งดาวเทียมให้ถึง 30,000 ดวง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วโลกในอนาคต
และเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด Amazon ได้ประกาศเซ็นสัญญากับ 3 บริษัท เพื่อยิงจรวดรวม 83 ภารกิจ ในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ได้แก่
– United Launch Alliance (ULA) จำนวน 38 ภารกิจ
– Arianespace จำนวน 18 ภารกิจ
– Blue Origin (บริษัทด้านอวกาศของเจฟฟ์ เบโซส) จำนวน 12 ภารกิจ ที่อาจมีเพิ่มเติมในอนาคตสูงสุด 15 ภารกิจ
ซึ่งทาง Amazon ระบุว่า “นี่เป็นการจัดจ้างยานพาหนะเชิงพาณิชย์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์”
อย่างไรก็ดี เบื้องต้น Amazon วางแผนจะทดลองนำดาวเทียมขึ้นโคจรก่อน 2 ภารกิจ แต่จะใช้จรวดของ ABL Space Systems ซึ่งไม่ใช่ 3 บริษัทที่ Amazon ทำสัญญาด้วย หลังจากนั้นก็จะปล่อยดาวเทียมออกไปเป็นชุด ๆ แต่ยังไม่มีกรอบระยะเวลาการปล่อยที่ชัดเจน ซึ่งทางหน่วยงานของสหรัฐฯ กำหนดให้ Project Kuiper จะต้องปล่อยดาวเทียม และเปิดใช้งาน จำนวนครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2026
สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่หลายคนเคยได้ยิน แต่ยังไม่เห็นในไทย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นประโยชน์อย่างชัดเจน ก็คือจากกรณีสงครามรัสเซีย และยูเครน
ก่อนหน้านี้ Mykhailo Fedorov รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของยูเครน ได้ทวีตถึง อีลอน มัสก์ เพื่อร้องขอความเชื่อเหลือ ในการจัดหาบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Starlink ซึ่งต่อมา อีลอน มัสก์ ก็ได้เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในยูเครนจริง ๆ พร้อมกับระบุว่า จะเร่งขยายจุดรับสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ชาวยูเครนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นในช่วงสงคราม
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/1387231808035873/posts/4932736076818744/