ระบบปัญญาประดิษฐ์ ช่วยซ่อมแซมจารึกโบราณที่ได้รับความเสียหาย

Share

Loading

เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับนักวิจัยหลากหลายแขนงในการไขความลับในจักรวาลทั้งอดีตและปัจจุบัน ล่าสุด ระบบปัญญาประดิษฐ์ ได้จับมือนักวิทยาศาสตร์เพื่อเจาะเวลาหาข้อความที่หายไปในจารึกโบราณแล้ว

นักวิจัยได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยเติมคำที่ขาดหายไปในจารึกโบราณ โดยระบบดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยนักประวัติศาสตร์ในการซ่อมแซมงานจารึก รวมทั้งสามารถระบุเวลาและสถานที่ที่ข้อความเหล่านั้นถูกจารึกไว้ด้วย

คนโบราณจำนวนมากจะใช้การเขียนหรือที่เรียกว่าการจารึก ในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกเขา ทั้งนี้ มีการค้นพบการจารึกข้อความบนวัสดุต่างๆ เช่น หิน เซรามิก และโลหะ โดยงานเขียนเหล่านี้มักประกอบด้วยข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณและโครงสร้างทางสังคมในสมัยนั้น

แต่ในหลายกรณี สิ่งของที่มีคำจารึกดังกล่าวได้รับความเสียหายตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ข้อความที่เป็นส่วนสำคัญของจารึกขาดหายไปและยากที่จะเข้าใจได้

นอกจากนี้ วัตถุที่ถูกจารึกไว้จำนวนมากยังถูกเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่มีการจารึกไว้ในครั้งแรก ทำให้เป็นการยากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จะศึกษาว่าข้อความเหล่านั้นถูกจารึกไว้เมื่อใดและที่ไหน

แต่วิธีการใหม่ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ จะเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักวิจัยสามารถซ่อมแซมจารึกที่ขาดหายไปและคาดคะเนต้นกำเนิดที่แท้จริงของบันทึกเหล่านั้นได้

คณะนักวิจัยทำงานร่วมกับ DeepMind บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Alphabet ในการพัฒนาเครื่องมือที่มีชื่อว่า Ithaca ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่าระบบนี้เป็น “โครงข่ายประสาทเทียมระดับลึกเครือข่ายแรกที่สามารถกู้คืนข้อความที่หายไปของจารึกที่ได้รับความเสียหายได้” ทั้งนี้ โครงข่ายประสาทเทียมเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่เหมือนสมองของมนุษย์

ผลการศึกษาวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature โดยมีนักวิจัยจากองค์กรอื่นๆ เช่น University of Oxford, Ca’ Foscari University of Venice และ Athens University of Economics and Business เข้าร่วมการศึกษานี้ด้วยเช่นกัน

นักวิจัยกล่าวว่า Ithaca ถูกฝึกด้วยชุดข้อมูลภาษากรีกที่ใหญ่ที่สุดที่ได้มาจาก Packard Humanities Institute ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในรัฐแคลิฟอร์เนีย การป้อนข้อมูลนี้เข้าสู่ระบบได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถใช้งานเขียนในอดีตเพื่อคาดเดาตัวอักษรและคำที่ขาดหายไปจากจารึกที่ได้รับความเสียหายได้

ในการทดลองกับจารึกโบราณที่ได้รับความเสียหายนั้น นักวิจัยรายงานว่า Ithaca สามารถทำนายองค์ประกอบของจารึกที่ขาดหายไปได้อย่างถูกต้องถึง 62 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังสามารถระบุที่มาของจารึกต่างๆ ได้ถูกต้องถึง 71 เปอร์เซ็นต์ และยังสามารถระบุวันเวลาที่จารึกไว้ได้อย่างแม่นยำภายในกรอบระยะเวลา 30 ปีอีกด้วย

แยนนิส แอสแซล (Yannis Assael) นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยของ DeepMind ซึ่งเป็นหัวหน้าในการศึกษานี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า Ithaca ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักประวัติศาสตร์สามารถเข้าใจในประวัติศาสตร์โบราณได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

เขากล่าวว่า เมื่อนักประวัติศาสตร์ทำงานเพียงลำพัง อัตราความสำเร็จในการซ่อมแซมจารึกที่เสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อนักประวัติศาสตร์ได้ทำงานร่วมกับ Ithaca อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็น 72 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิจัยกำลังพัฒนา Ithaca ในเวอร์ชั่นอื่นๆ ซึ่งได้รับการฝึกภาษาโบราณหลายๆ ภาษา และทาง DeepMind ได้เปิดตัวเครื่องมือที่สามารถสื่อสารโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ซึ่งเปิดให้นักวิจัย นักการศึกษา พนักงานพิพิธภัณฑ์ และสาธารณชนทั่วไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แหล่งข้อมูล

https://www.sanook.com/hitech/1554681/