จากไอเดียสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ ความภูมิใจที่นอกจากจะตอกย้ำว่าคนไทยมีฝีมือแล้ว ยังเป็นการบอกชาวโลกว่า ไทยพึ่งพานวัตกรรมของตนเองได้
สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) เป็นอุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัด รวมถึงผู้สูงอายุ ที่ วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร นำงานวิจัยของตัวเองจากวิทยานิพนธ์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องการออกแบบโครงช่วยฝึกเดินที่มีระบบพยุงน้ำหนักบางส่วนสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวด้านการเดิน ทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างขึ้น
ในช่วงแรกเริ่ม นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุนี้เกิดขึ้นภายใต้ศูนย์วิจัย CED2 ในการดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการกายภาพบำบัดที่มีระบบพยุงน้ำหนักแบบไดนามิกส์ (Dynamic Body Weight Support) ตัวแรกของประเทศไทย ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดิน ลดภาระการบาดเจ็บของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วนสำคัญสำหรับการทำกายภาพบำบัด ได้แก่
1 ระบบกลไกพยุงน้ำหนักบางส่วนแบบไดนามิกส์ซัพพอร์ตตัวแรกของประเทศไทย เพื่อลดแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในขณะที่ฝึกเดิน
2 ระบบป้องกันการหกล้ม 100% เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ให้ผู้ป่วยไม่กลัวล้ม
3 ระบบช่วยยกขาด้านที่อ่อนแรงในผู้ป่วยบางเคสที่ไม่สามารถยกขาก้าวในขณะฝึกเดิน
โอกาสสำคัญที่เข้ามาซัพพอร์ตสิ่งประดิษฐ์เพื่อการกายภาพบำบัดให้ได้รับความสนใจมากขึ้น คือ การได้รับทุนวิจัยจาก กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund หรือ TED Fund) มาพัฒนาต่อจนประสบความสำเร็จและได้รับหลายรางวัลเป็นเครื่องการันตีความสามารถ
รางวัลที่เคยได้รับ
- รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากงาน i-CREATe ปี 2560
- รางวัลชนะเลิศ ITCi Award ปี 2560
- รางวัลชนะเลิศ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ปี 2561
- รางวัลชนะเลิศ Young-D Startup by SCB 2562
ทั้งได้รับการสนับสนุน ได้รับรางวัลมากมาย ส่งผลให้การพัฒนานวัตกรรมก้าวสู่การมีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปผลิตและจำหน่าย ทั้งยังได้ขยายผลการใช้งานเพื่อยกระดับการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
Space Walker จึงเป็นผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างที่ยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ และเป็นผลงานที่สอดคล้องตาม นโยบายเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) สาขาเครื่องมือแพทย์ ที่มุ่งเป้าใช้นวัตกรรมไทยพึ่งพาตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
Space Walker จึงเป็นหนึ่งในความสำเร็จตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยอย่างก้าวกระโดด
ล่าสุด Space Walker ได้รับการพิจารณาจากสำนักงบประมาณในการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยจะได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่คนไทยผลิต และได้คุณภาพมาตรฐาน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อไป
แหล่งข้อมูล