85 ล้านตำแหน่งงานกำลังจะหายไป 100 ล้านตำแหน่งใหม่จะมาแทน ปรับตัวก่อนได้เปรียบ

Share

Loading

มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2568 งาน 85 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่จะมีงานที่เกิดขึ้นใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง ที่ต้องการกำลังคนและส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และงานในด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) เช่น วิศวกรหุ่นยนต์, ไอโอที, ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล ฯลฯ และด้านสังคม เช่น ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ, ผู้สนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์ เป็นต้น

ขณะที่ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้อายุ จากข้อมูลพบว่าปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่าคนเกิดใหม่ ถึง 20,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เรียนและทำงานจนเกษียณอายุ อาจต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การทำงานและชีวิตส่วนตัวในทุกช่วงวัย

ข้อมูลของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ระบุว่า ทักษะอาชีพในอนาคตที่ขาดแคลน และมีความต้องการสูงในภาคอุตสาหกรรม อาทิ Digital marketing, Aerospace engineer, Food stylist, Automation engineer, Robotics control engineer, Biologist ฯลฯ หลักสูตรการศึกษาในอนาคต จึงควรมีทั้งแบบ degree และ non-degree เมื่อเรียนจบแล้ว ออกไปทำงาน และสามารถกลับมา reskill หรือ upskill แล้วไปเป็นผู้ประกอบการ หรือทำงานได้มากกว่า 1 อาชีพ

รายงานจัดทำโดย McKinsey Global Institute (MGI) เกี่ยวกับ “ทักษะ” ที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในอนาคต โดยจากการสอบถามบริษัทต่างๆ ถึง “next change” ขององค์กร และทักษะที่ต้องการให้มีการเตรียมพร้อม พบว่าบริษัทต่างๆ คาดหวังถึงทักษะด้านเทคโนโลยี (Technological skills) เป็นลำดับแรก โดยพบว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี 2030

ดังนั้นระบบการศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ทักษะอาชีพที่เปลี่ยนไปด้วย การพัฒนาจะค่อยๆ เปลี่ยนไปจากฝั่ง Supply side ไปสู่การร่วมออกแบบโมเดลการศึกษา พัฒนาคน ทั้งเชิงการทำงานและร่วมลงทุน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคที่ต้องใช้บุคลากร

เช่นเดียวกับ นักศึกษา ที่ต้องเป็นเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต จากในอดีตทำงานถึงอายุ 60 เกษียณตัวเอง แต่ปัจจุบันควรต้อง reskill หรือ upskill เพื่อทำอาชีพใหม่ๆ นอกเหนือจากงานประจำที่เคยทำมา

เมื่อเดือนเมษายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ได้ประกาศกฏกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานการอุดมศึกษา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศและการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้มีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาการหรือวิชาชีพที่ตนถนัด สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้

โดยกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานการอุดมศึกษา ประกอบไปด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา 2. มาตรฐานหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา 3. มาตรฐานการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา 4. กำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาอื่น และ 5. มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา โดยจะมีผลใช้บังคับหลัง 180 วันจากวันที่ประกาศนี้

น่าจับตาสำหรับเรื่องที่ 1 และเรื่องที่ 2 คือมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะมีการปรับให้การจัดตั้งและมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ เช่น ไม่เน้นสิ่งปลูกสร้างแต่เน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย และยังมุ่งเน้นวัตถุประสงค์เดิมใน 4 เรื่อง คือ การจัดการเรียนการสอน การวิจัยและสร้างนวัตกรรม การบริการสังคม และการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มีการปรับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยกเลิกเกณฑ์กลางระยะเวลาเรียน การเทียบโอนหน่วยกิต การสะสมหน่วยกิต ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ในการเรียนรู้มาสะสมในคลังหน่วยกิตเพื่อขอรับคุณวุฒิหรือปริญญาได้ โดยไม่จำกัดเรื่องอายุ คุณวุฒิของผู้เรียน และระยะเวลาในการเรียน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในระบบของหลักสูตรและตอบสนองต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า ขณะนี้ อว.กำลังเร่งดำเนินการจัดทำ ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) ตามนโยบายที่ต้องการเปิดโอกาสให้คนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยทำงานและวัยเกษียณสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการฝากและสะสมหน่วยกิตตามเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก อว. โดยเมื่อสะสมหน่วยกิตได้ถึงระดับหนึ่งจะสามารถได้รับใบประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญ หรือปริญญาบัตร เพื่อแสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้และทักษะในด้านต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและการทำธุรกิจได้ รวมถึงได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อเอาไปต่อยอดในการทำงาน พัฒนาตนเอง ตลอดจนสามารถสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ ได้ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานปลัด อว. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับการศึกษาทุกช่วงวัย สอดรับกับการปฏิรูปอุดมศึกษา ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการศึกษายุคศตวรรษที่ 21 ว่า ตอนนี้มีศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า VUCA World คือมีการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน ไม่แน่นอน มีความสลับซับซ้อน ไม่รู้จะไปในทิศทางไหน ด้วยความเร็วหรือความเร่ง ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกเหนือจากความรู้สาระทิศทางที่ต้องมีแล้ว คนไทยทุกคน เด็กทุกคนจะต้องมีภูมิคุ้มกัน ที่จะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 วันนี้คนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมตกงานนับแสนคน เก่งไหม เก่ง รูไหม รู้ แต่ตลาดไม่ต้องการ คุณครูไม่ผิด เด็กผิดไหม ไม่ผิด แต่งานวิจัยบอกกับเราว่าต่อไปนี้องค์กรที่จะรับคนเข้าทำงานต้องมีทักษะมากกว่า 2 อย่าง รู้อย่างเดียวไม่มีใครรับ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบที่ผันผวนในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/07/25/100-million-new-jobs-and-digital-transformation/