‘นูทานิคซ์’ ชี้ ‘ไฮบริด เวิร์กเพลส’ โจทย์ท้าทายองค์กรยุคดิจิทัล

Share

Loading

โควิด-19 ทำให้บริษัท 42% ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และผู้บริหารระดับสูงมุ่งเน้นการสร้าง “Digital workplace” ที่พร้อมรองรับอนาคต

การระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 เปิดศักราชใหม่ให้กับสถานที่ทำงาน และการปฏิบัติงานในรูปแบบใหม่และทันสมัยขึ้น

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ วิเคราะห์ว่า บุคลากรในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน และเลือกสถานที่ทำงานมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทว่าในโลกวิถีใหม่นี้ ทั้งบุคลากรและองค์กรต้องรับมือกับความท้าทายและความจำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่มนุษย์เราต้องการในที่ทำงาน นั่นคือ “การติดต่อสื่อสารและการประสานงานร่วมกันในทางกายภาพ”

ตรงจุดนี้เองที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารที่เห็นความสำคัญ ของบุคลากร

ขับเคลื่อน ‘ดิจิทัล เวิร์คเพลส’

นูทานิคซ์ ร่วมกับ IDC InfoBriefs ทำการสำรวจเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน และการทำงานผ่านเครื่องมือดิจิทัล (digital workspaces) พบว่า ความท้าทายหลักๆ ที่องค์กรเผชิญนั้นเกิดจากการระบาดของโควิด-19 และรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ทั้งยังพบว่าการระบาดนี้ทำให้บริษัททั่วโลก 42% ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และผู้บริหารระดับสูงมุ่งเน้นการสร้าง “digital workplace” ที่พร้อมรองรับอนาคต รวมถึงมีความยั่งยืนในระยะยาวในช่วงหลายปีนับจากนี้

ไอดีซี แนะว่า การรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ ผู้บริหารจำเป็นต้องนำแนวทางในการบริหารจัดการบุคลากรแบบใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขภาพ และความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบผสมผสานทั้งหมด

พร้อมกันนี้ ส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาพจิตใจที่ดี ส่งเสริมให้เกิดการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใหับุคลากรทำกิจกรรมข้ามทีมกัน และเพิ่มแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในรูปแบบอื่นๆ

“การจะดำเนินการในลักษณะนี้ได้นั้น องค์กรต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้บุคลากรสามารถทำงานจากระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำงานในสำนักงาน”

นายจ้างต้องมีจุดยืนชัดเจน

สำหรับคำถามสำคัญที่พนักงานควรถามนายจ้าง อันดับแรกสิ่งสำคัญที่พนักงานควรรู้คือ นายจ้างมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบไฮบริด และมีแบบแผนในการสนับสนุนการพัฒนา และการเติบโตในอาชีพการงานอย่างไรบ้าง

หากองค์กรนำรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (ไฮบริด) มาใช้หรือต้องการให้พนักงานทำงานจากระยะไกลเท่านั้น พนักงานก็ควรสอบถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานตามรูปแบบนั้นๆ และถามถึงวิธีการที่บริษัทจะให้การอบรมการทำงาน รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้ต่างๆ และการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานไอที

ด้านการฝึกอบรมระหว่างทำงาน ให้สอบถามว่านายจ้างว่ามีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร ใช้เครื่องมืออะไรเชื่อมต่อ แล้วพนักงานสามารถติดต่อกับสมาชิกในทีมที่มีประสบการณ์เพื่อถามคำถามต่างๆ ได้โดยตรงหรือไม่ หรือจะต้องผ่านผู้ดูแลตามสายงานของพนักงานนั้นๆ

ดูแลสุขภาพ ‘กาย-ใจ’

นูทานิคซ์แนะว่า องค์กรที่รองรับการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากระยะไกลจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงานอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ภายในปี 2568 ไอดีซี คาดการณ์ว่า 55% ของบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ Global 2000 จะดำเนินการปรับรูปแบบการทำงาน ย้ายสถานที่หรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสำนักงาน

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถคุ้มครองสุขภาพและรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วควรใช้หลักปรัชญาเดียวกันนี้เพื่อปรับปรุงการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้คนจำนวนมาก ดังนั้นองค์กรต่างๆ จึงต้องรับมือกับภารกิจในการช่วยให้พนักงานเอาชนะความเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟในการทำงาน

‘คน-เทคโนโลยี’ ต้องไปด้วยกัน

อีกหนึ่งความท้าทายและโอกาสที่มาพร้อมกับสถานที่ทำงานแห่งอนาคตก็คือ การแนะนำให้พนักงานสูงวัยได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งอาจเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นสำหรับคนรุ่นเก่าที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล

ดังนั้นองค์กรจึงต้องดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบและเอาใจเขามาใส่ใจเรา การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องและการจัดพื้นที่พิเศษเพื่อให้พนักงานได้ซักถามเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเทคโนโลยีนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมขวัญกำลังใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานอาวุโสเหล่านี้

“องค์กรต้องรู้ว่าบุคลากรมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ และปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับพฤติกรรมและความต้องการของบุคลากร”

สถานที่ทำงานแห่งอนาคตเป็นสิ่งที่จับต้องได้แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ผู้บริหารองค์กรและพนักงานล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารและการเชื่อมต่อถึงกัน การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_gadget/1018014