“ชัยวุฒิ” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการ “เมืองอัจฉริยะ” พร้อมร่วมพิจารณาข้อเสนอ “แผนพัฒนาเมือง 15 พื้นที่” ก่อนมีมติเห็นชอบเพื่อประกาศมอบตราสัญลักษณ์ เร่งส่งรายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเฟสต่อไป
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ร่วมพิจารณาข้อเสนอ และเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 พื้นที่ ใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย
1 นครระยองเมืองอัจฉริยะและน่าอยู่ จ.ระยอง
2 คันทรงโมเดล เมืองแห่งความสุขที่พึงประสงค์และสังคมแห่งการแบ่งปัน จ.ชลบุรี
3 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลก
4 โครงการพิษณุโลกนครอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
5 นครเชียงรายสู่เมืองอัจฉริยะ
6 เมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ
7 โคราชเมืองอัจฉริยะ
8 Smart City อุบลราชธานี
9 กระบี่เมืองอัจฉริยะ
10 จังหวัดพังงาสู่เมืองอัจฉริยะ
11 สตูลสมาร์ทซิตี้
12 พัฒนาเทศบาลนครเกาะสมุย สู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
13 หาดใหญ่เมืองอัจฉริยะสีเขียว
14 ปัตตานีเมืองอัจฉริยะ
15 เมืองสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์นราธิวาส
ส่งผลให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นเมืองอัจฉริยะรวม 30 พื้นที่ ใน 23 จังหวัด
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ภายใต้การทำงานของสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทยมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน
โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถแก่บุคลากร ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูงให้มีทักษะด้านการวางแผน และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้มากกว่า 150 คน ผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ โคงการอบรมผู้บริหาร หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ
อีกทั้งกระตุ้นการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อการบริการเมืองอัจฉริยะ ทั้งในส่วนผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบภาคเอกชน สถาบัน หรือหน่วยงานด้านนวัตกรรม ผู้ใช้บริการ ได้แก่ ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรหรือธุรกิจ
ทั้งนี้ ได้ประเมินว่า การพัฒนาแผนโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวมกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการผลักดันให้เกิดการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
“กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยไม่ใช่เพียงการมีแผนงานที่ชัดเจน แต่ต้องมีการบูรณาการการทำงานอย่างคล่องตัวจากผู้ที่มีส่วนกำหนดนโยบาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ไปจนถึงภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในพื้นที่นั้นๆ”
สำหรับผลการประชุมจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อรับทราบก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาจากนั้นจะมีพิธีประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแก่ 15 พื้นที่ ใน 14 จังหวัดดังกล่าวต่อไป
แหล่งข้อมูล