หลังจากโควิดซาลง โลกเริ่มเป็นปกติ ‘ปัญหาใหญ่’ ของมนุษยชาติก็กลับมาเป็นเรื่องเดิมก่อนโควิด คือเรื่องภาวะโลกร้อน
ซึ่งก็อย่างที่รู้กัน มันมีการประกาศไปไม่รู้กี่รอบแล้วว่ามนุษย์น่าจะ ‘ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ’ ไม่ทันตามกำหนดแน่ๆ เพราะชาติใหญ่ๆ ก็ทำกันไม่ได้ตามเป้าเลย และพอมีสถานการณ์โควิดมา ‘ความพยายาม’ พวกนี้ก็เริ่มลดความจริงจังลงอีก เนื่องจากการสู้กับโรคระบาดระดับโลกมันเป็นเรื่องใหญ่กว่า
ดังนั้น คนเริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเพิ่มการ ‘ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ’ เป็นไปไม่ได้จริง คนก็เลยหันมาสู้โลกร้อนอีกทาง โดยใช้สารพัดเทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ
แน่นอน สิ่งที่มี ‘หน้าที่’ แบบนี้มาตั้งแต่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตก็คือต้นไม้ที่ในกระบวนการ ‘สังเคราะห์แสง’ ของมันคือการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนอยู่แล้ว นี่ก็เลยเป็นเหตุผลให้เกิดไอเดียเรื่องการขยายป่าสู้โลกร้อน ไปจนถึงการขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ เพื่อเอาเงินไปปลูกป่า
แต่ดูทรงแล้ว ยังไงการขยายตัวของต้นไม้ก็ไม่น่าจะทันใช้…จึงมีคนคิดว่าทำไมเราไม่ทำต้นไม้ GMO ที่ดูดคาร์บอนไดได้มากขึ้นและโตเร็วขึ้นล่ะ?
อาจฟังดูเป็นไอเดียเว่อร์ๆ แต่สตาร์ทอัพนามว่า Living Carbon ในอเมริกานั้นได้ผลิตต้นไม้ GMO ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวออกมาแล้วจริงๆ
ซึ่งเหตุผลที่ทำก็เป็นไปตามที่เล่าทั้งหมดคือมันไม่มีทางไหนอีกแล้วในการสู้โลกร้อน จึงต้องไปหาคำตอบจากเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม โดยนี่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีต้นแบบอะไร แต่เขาวางแผนแล้วว่าจะปลูกต้นไม้แบบที่ว่านี้ถึง 4 ล้านต้นในปี 2023
ว่าแต่ มันไม่มีปัญหาอะไรจริงๆ หรือ?
คำตอบก็คือ นักนิเวศวิทยาหลายคนก็แสดงความ ‘เป็นห่วง’ ว่าการไปปลูกต้นไม้พวกนี้ตามธรรมชาติมันไม่ใช่แค่ดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าปกติ แต่มัน ‘โตเร็ว’ มากกว่าปกติด้วย
พูดง่ายๆ คือ การเอาสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่โตเร็วมากใส่ไปในสภาพแวดล้อม ยังไงมันก็ส่งผลต่อระบบนิเวศแน่ๆ ซึ่งเขาก็ยังไม่ได้ประเมินชัดๆ ว่ามันจะเกิดอะไรได้บ้าง แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับโลกที่หวาดกลัวพืชและสัตว์ GMO เป็นทุนอยู่แล้ว จะมีความ ‘ลังเล’ ต่อการใช้ต้นไม้ GMO ที่ว่านี้ในการสู้โลกร้อน
แต่คำถามที่สำคัญจริงๆ ก็คือ ณ ตอนนี้ มนุษย์มีทางเลือกขนาดนั้นเลยหรือ? เพราะพยายามกันมาตั้งกี่ปีแล้ว แต่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็ห่างเป้าไปเรื่อยๆ ยังไงมันต้องหันมาหาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว
ดังนั้นคำถามที่ว่า…แล้วมันจะมีเทคโนโลยีอะไรที่มีลุ้นว่าจะใช้ได้ผลกว่า ‘เทคโนโลยีมีชีวิต’ แบบนี้อีก? จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3404318566560338/