รถไฟ EV ก้าวใหม่ม้าเหล็กไทย

Share

Loading

ท่ามกลางกระแสโลกร้อนและการรณรงค์ให้รถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนปรับเปลี่ยนจากระบบสันดาปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง หันมาใช้การชาร์จไฟฟ้าแทน ไม่เว้นแม้กระทั่ง…รถไฟ

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันการใช้รถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า หรือ EV on Train ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในตัวรถไฟ ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิมปี 2568 เป็นปี 2566 โดยมีโรดแมป ประกอบด้วย

ปี 2564 ดำเนินการศึกษาและออกแบบรถไฟ EV ที่เหมาะสมกับประเทศไทย

ปี 2565 เตรียมการและดำเนินการดัดแปลงรถไฟ EV จากรถจักรเก่า

ปี 2566 ดำเนินการทดสอบรถไฟ EV ในศูนย์ทดสอบและทดลองวิ่งในเส้นทาง

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้จัดหาหัวรถจักร EV โดย EA ได้จับมือพันธมิตรจีน ผลิตหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าของบริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ของจีน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท CRRC Dalian ได้จัดส่งหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV มายังประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท เอเซียเอนจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด (AES) ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงรถไฟ เพื่อประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่

โดยหัวรถจักร EV คันนี้เป็นรถจักรคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ Battery Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย EA ได้ร่วมมือกับภาควิชาการ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มทร.อีสาน ในการเตรียมทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ที่สถานีบางซื่อภายในปีนี้

“ถือเป็นก้าวแรกของ EA ในการจับมือกับพันธมิตรในจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถไฟ ขณะที่ EA มีความพร้อมในออกแบบและพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge สอดคล้องยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub” อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

หัวรถไฟ EV สามารถวิ่งได้ระยะ 150-200 กิโลเมตร ประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถดีเซล ออกแบบพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ช.ม. ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ สามารถขยายผลยกระดับการขนส่งโดยสารเมืองรอง รองรับการใช้งานทุกระดับ และนำไปพัฒนาระบบ Light Rail Transit (LRT) สำหรับขนส่งในตัวเมืองได้ด้วย

“EA เล็งเห็นว่า Electritication ที่เป็นเทรนด์โลกในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด EA หวังว่าหัวรถจักร EV จะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมและมูลค่าให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืน เพราะเป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิด PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint ที่เป็นพันธกิจของประเทศไทยในเวทีโลก COP26 นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวถึงสถานการณ์โลกยุคใหม่

สำหรับ EA นอกจากการผลิตรถไฟ EV แล้ว ยังผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Battery Electric Vehicle = BEV) ยี่ห้อ MINE Mobility ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย 100% จัดสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารองรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั้ก (PHEV) และ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในพื้นที่ของพันธมิตรเป้าหมาย 1,000 สถานีทั่วประเทศ เป็นผู้ผลิตเรือพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ที่เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้ว เป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าทันสมัยที่สุด ได้รับการจดทะเบียนเป็นเรือพลังงานไฟฟ้าเป็นลำแรกของประเทศ เปิดให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากเกร็ด นนทบุรี ถึงใจกลางกรุงเทพบริเวณสาธร รวมถึงการลงทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดใน อ.บางประกง จ.ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง พิษณุโลก โรงไฟฟ้าพลังงานลมในนครศรีธรรมราช สงขลา และชัยภูมิ รวมถึงโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B 100) กลีเซอร์รีนและผลิตภัณฑ์พลอยได้ต่างๆ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/08/24/ev-on-train-thailand/