สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า Toyota และ 9 บริษัทญี่ปุ่น เช่น NTT กับธนาคาร Mitsubishi UFJ ตั้งกิจการใหม่ในชื่อ Rapidus เพื่อพัฒนาชิปเซ็ตยุคถัดไป โดยจะเริ่มผลิตภายในปี 2030 และมีรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน
สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า Toyota Motor ประกาศความร่วมมือกับ 9 บริษัทของญี่ปุ่น เพื่อลงขันรายละ 1,000 ล้านเยน (ราว 250 ล้านบาท) เพื่อสร้างกิจการใหม่ที่เน้นเรื่องการพัฒนา และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเซ็ตสำหรับยุคถัดไป มีชื่อองค์กรว่า Rapidus ที่ภาษาลาตินหมายถึง Rapid หรือรวดเร็ว ว่องไว
สำหรับกิจการญี่ปุ่นที่เข้ามาลงขัน 9 ราย ประกอบด้วย Denso, NTT, บริษัทผลิตชิปเซ็ต Kioxiz Holdings และธนาคาร Mitsubishi UFJ เป็นต้น โดยกิจการใหม่นี้มี Tetsuro Higashi อดีตประธานบริษัทผลิตชิป Tokyo Electron เป็นโต้โผในการชักชวนองค์กรต่าง ๆ และมีแผนร่วมมือกับองค์กรในสหรัฐอเมริกาในอนาคต
ขณะเดียวกันกิจการใหม่นี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านการอุดหนุนเกี่ยวกับการเงิน และด้านอื่น ๆ ทั้งยังมีแผนชักชวนให้องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และอยากมีส่วนร่วมกับชิปเช็ตยุคใหม่ให้เข้ามาร่วมลงทุนในกิจการนี้ได้ ก่อนจะเริ่มผลิตชิปเซ็ตยุคใหม่นี้ภายในปี 2030
ชิปเซ็ตยุคใหม่ที่ Rapidus ให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีที่เล็กกว่า 2 นาโนเมตร เหมาะสำหรับใช้ในนวัตกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ และโครงสร้างการสื่อสารขั้นสูง รวมถึงระบบดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะนวัตกรรมเหล่านี้ต้องการการรับส่งข้อมูลรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
จากวิกฤติชิปเซ็ตขาดแคลนในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด จนหลายองค์กรไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจได้ ทำให้องค์กรต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จึงไม่แปลกที่องค์กรชั้นนำ 9 รายในประเทศญี่ปุ่นจะลงขันกันตั้งกิจการเพื่อผลิตชิปเซ็ตยุคใหม่โดยเฉพาะ จะได้ไม่มีปัญหาชิปเซ็ตขาดแคลนอีกต่อไป
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/BrandInsideAsia/photos/a.1505585296134824/6490544897638814/