เกาะสมุย ชุมชนต้นแบบ BCG Farming ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเจอพิษโควิด-19

Share

Loading

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ชู โครงการศูนย์ BCG Farming อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ 70 ไร่ เพื่อขับเคลื่อนภาคการผลิต การแปรรูป การตลาด สร้างประโยชน์ให้ชุมชน หลังเจอผลกระทบจากโควิด-19

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนิน โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บนพื้นที่ 70 ไร่ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาพื้นที่ สร้างต้นแบบเชิงรูปธรรม ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป การตลาด สู่การสร้างประโยชน์ให้ชุมชนในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ ในการศึกษาดูงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG

ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้พื้นที่เกาะสมุย มีภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดในประเทศไทยอันดับต้นๆ เพราะนักท่องเที่ยวร้อยละ 95 เป็นชาวต่างชาติ ประชากรแฝงที่มาทำงานที่เกาะสมุยกลับถิ่นฐาน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของคนเกาะสมุยถดถอย เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเกาะเดินทางเข้าและออกลำบาก การเกษตรกรรมตามแนวทาง BCG จึงเป็นทางเลือกของชุมชนที่สามารถผลิต แปรรูป สร้างแหล่งอาหารเพื่อการบริโภค ลดรายจ่ายครัวเรือนภายในชุมชน เกิดการรวมกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนปัจจัยการผลิต ผลผลิต และแปรรูปผลผลิตร่วมกัน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการในพื้นที่เกาะสมุย สามารถตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถสร้างศูนย์ต้นแบบ BCG ทางการเกษตร สำหรับเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานและถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายชีวภาพทางการเกษตร เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างวิทยากรภายในศูนย์ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน BCG แก่ผู้อื่นต่อได้ และทำให้เกิดชุมชนที่นำผลจากการศึกษาดูงานเชิงปฏิบัติการไปพัฒนาชุมชนตามแนวทาง BCG

รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานโครงการศูนย์ BCG Farming ขับเคลื่อนโครงการทั้งด้านต้นน้ำคือ เกษตรกรรม กลางน้ำคือ การแปรรูปอาหาร การแปรรูปเครื่องสำอาง ปลายน้ำคือ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ บนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนโดยชุมชนในท้องที่ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืน นำร่องโครงการ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ประกอบด้วยกิจกรรม การปลูกพืชในระบบโรงเรือน (ปลูกพืชแบบไร้ดินหรือไฮโดรโปรนิกส์ การพัฒนาระบบการปลูกพืชมูลค่าสูง) การเพิ่มผลผลิตในพืชสมุนไพร การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ (เห็ดนางรมเทา เห็ดแครง เห็ดนางฟ้าภูฐานดำ) การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอาหาร (น้ำสลัดสูตรผู้ประกอบการ/สูตรไขมันต่ำ เห็ดอบกรอบ เห็ดหยอง น้ำพริกเห็ด ข้าวพองอบกรอบ เจลลี่ไข่ขาว กล้วยอบแห้ง กล้วยทอดกรอบ) การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นเครื่องสำอาง (การสกัดสารจากพืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์แชมพู/ครีมนวดผม สบู่เหลว/สบู่ก้อน โลชั่นบำรุงผิวกาย โลชั่นบำรุงผิวหน้า) และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป

อนึ่ง อำเภอเกาะสมุย มีเนื้อที่ 152,723 ไร่ มีการปกครอง คือ เทศบาลนครเกาะสมุย โดยขอบเขตการปกครองครอบคลุม 7 ตำบล เศรษฐกิจของอำเภอเกาะสมุยขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว การบริการ และการเกษตร โดยภาคการท่องเที่ยวทำรายได้ให้กับเกาะสมุยสูงสุด ประมาณ 9,000-12,000 ล้านบาท/ปี

ภาคการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ไม้ยืนต้นและไม้ผล โดยไม้ผลที่มีการเพาะปลูกค่อนข้างมาก ได้แก่ มะพร้าว มีพื้นที่เพาะปลูก 89,250 ไร่ ส่วนการเกษตรในด้านอื่นๆ อาทิ การประมง การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์น้ำ และการเลี้ยงสัตว์ เป็นกิจกรรมที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้สร้างโรงเรือนเปิดดอกและสถานที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ด ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย การเปิดดอกเห็ดสกุลนางรม ได้แก่ เห็ดนางรมเทา 2 โรงเรือน โรงเรือนละ 2,000 ก้อน รวมทั้งหมด 4,000 ก้อน เห็ดนางฟ้าภูฐานดำ จำนวน 2 โรงเรือน โรงเรือนละ 2,000 ก้อน รวม 4,000 ก้อน เห็ดแครง 1 โรงเรือน จำนวน 2,000 ก้อน รวม 5 โรงเรือน จำนวนก้อนทั้งหมด 10,000 ก้อน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการจัดการการผลิตเห็ด ฝึกปฏิบัติขั้นตอนการผลิตเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเห็ดเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ และการผลิตก้อนเห็ดในระบบถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรนอกวิทยาลัย จัดทำแปลงผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมจำนวน 7 แปลง ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว สามารสสร้างอาชีพทำให้เกิดรายได้และเป็นต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1042105