สทน.ดันไทยโทคาแมค-1 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผลิตกระแสไฟฟ้า รุกอุตสาหกรรม

Share

Loading

สทน.เปิดตัวไทยโทคาแมค-1 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน เครื่องแรกของไทย เล็งเดินหน้าอัพเกรดเครื่องวิจัย ภายในเดือนมีนาคม 66 บูมอุตสาหกรรมการเกษตร-การแพทย์

ศาสตร์ตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินการติดตั้งและเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ปัจจุบันไทยโดยกระทรวง อว. อยู่ระหว่างทำดาวเทียมเพื่อพัฒนาเป็นยานอวกาศ โดยจะนำยานอวกาศนี้ไปโคจรอบดวงจันทร์ได้ภายใน 6 ปี เชื่อว่าภายใน 6 ปีข้างหน้าจะเห็นยานอวกาศของไทยโคจรรอบดวงจันทร์ได้

“เราสามารถบังคับยาวอวกาศที่อยู่ห่างจากไทย 400,000 กิโลเมตรได้ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะดาวเทียมหรือยานอวกาศเท่านั้นที่คนไทยทำได้ แต่ยังมีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน ที่มีอยู่แห่งเดียวในอาเซียนโดยทำหน้าที่สร้างปฏิกิริยาฟิวชัน ซึ่งมีกระบวนการที่สร้างพลังงานมากมายมหาศาล แต่ไม่มีกัมมันตรังสีที่เป็นพิษ หรือมีน้อยมากๆ ไม่ได้อยู่ในระดับที่จะต้องกังวล”

ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่โลกสามารถทำฟิวชันโดยใส่พลังงานเข้าไป ทำให้เกิดพลังงานฟิวชัน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเดินหน้าร่วมกับ Carbon Footprint ได้ เพราะมีแหล่งพลังงานสะอาด ปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศที่สามารถทำปฏิกิริยาฟิวชันได้ ประมาณ 40 กว่าประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี อิหร่าน

รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า ปัจจุบันห้องปฏิบัติการ Lawrence Rivermore สามารถสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน โดยนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่มากกว่าพลังงานที่ใช้ในการสร้างปฏิกิริยา ซึ่งนักวิจัยจากกลุ่ม National Ignition Fusion ได้ใช้ลำแสงเลเซอร์ 192 ลำ ขนาด 2.05 เมกะจูล ให้ความร้อนแก่เม็ดเชื้อเพลิงขนาดเล็กมาก ที่บรรจุอยู่กระบอกทองคำขนาดเล็ก จนสามารถทำให้ดิวเทอเรียมและทริเทียมที่อยู่ในเม็ดเชื้อเพลิงรวมกันจนเกิดปฏิกิริยาฟิวชัน พร้อมปลดปล่อยพลังงานฟิวชันออกมา 3.12 เมกะจูล มากกว่าพลังงานป้อนเข้า 1.5 เท่า นับเป็นครั้งแรกที่พลังงานฟิวชันที่ผลิต สูงกว่าพลังงานป้อนเข้า ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก

ทั้งนี้โครงการฟิวชันในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย สทน. ด้วยการสนับสนุนทุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากที่ สทน.และ กฟผ. ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมรวมจำนวน 8 คน ฝึกอบรมภาคทฤษฎีเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์

ส่วนการฝึกภาคปฏิบัติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 สถาบัน ASIPP ได้ให้ Thailand Team ได้เริ่มเดินเครื่องเองเป็นครั้งแรกโดยทาง จนท. ASIPP ได้คอยสังเกตุควบคุม ซึ่งได้มีการทดสอบระบบต่างๆและสามารถจุดพลาสมาได้เป็นครั้งแรกได้สำเร็จ และการฝึกภาคทฤษฎีและปฏิบัติดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ทีมวิศวกรรมของ ASIPP จำนวน 5 คน ได้เดินทางมาที่ สทน.องครักษ์ เพื่อประเมินความพร้อมของพื้นที่ และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จและเริ่มการวิจัยได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้

สำหรับเครื่องโทคาแมคที่ไทยพัฒนาร่วมกับ ASIPP จะมีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ TT-1 เมื่อเดินเครื่อง คาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 องศาเซลเซียส และ สทน. มีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมาด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1,000,000 องศาเซลเซียส และในอนาคตจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเองโดยจะใช้เทคโนโลยี Superconducting magnet เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้นสำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้าง พลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10,000,000 องศาเซลเซียสได้

นอกจากนี้เครื่องโทคาแมคที่ติดตั้งที่ สทน. จะใช้สำหรับการศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และการนำพลาสมาไปใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ และจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทำให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยได้ในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/technology/550428