ปี 2022 ที่ผ่านมา หลายคนคงจะนึกไม่ถึงว่ามันคือปีที่ครบรอบ 10 ปี ของ ‘คอนเสิร์ตโฮโลแกรม’ ที่โด่งดังที่สุดของมนุษยชาติ นั่นคือการโผล่ขึ้นของ ‘โฮโลแกรม’ แร็ปเปอร์ผู้ล่วงลับอย่าง 2Pac บนเวที Coachella ในช่วงเดือนเมษายน 2012
ซึ่งหลายคนก็คงสงสัยว่าแม้เวลาจะผ่านมา 10 ปีแล้ว ทำไมเรายังไม่มีเทคโนโลยีโฮโลแกรมใช้กันอย่างแพร่หลาย
คำตอบแรกอาจ ‘หักมุม’ หน่อย ซึ่งก็คือในทางเทคนิคภาพ 2Pac บนเวทีนั้นไม่ใช่ ‘โฮโลแกรมแท้’ แต่เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Pepper’s Ghost ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ การฉายแสงเข้าไปในหมอก ให้เรารู้สึกเหมือนเห็นภาพ 3 มิติ ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเพียงภาพ 2 มิติ
นี่ไม่ใช่โฮโลแกรมแท้ซึ่งเรากำลังจะพูดถึง เพราะเป็นเทคนิคที่ง่ายกว่ามาก และถ้าอยากรู้เหตุผลที่โลกนี้ยังไม่มีคอนเสิร์ต ‘โฮโลแกรม’ แบบ 2Pac มากมาย มันไม่ได้เกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค แต่มันเกิดจากปัญหาลิขสิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องเคลียร์เรื่องลิขสิทธิ์เยอะมาก ตั้งแต่ภาพ เสียง บทประพันธ์เพลง ทำให้คนที่คิดจะใช้โดนเรียกค่าลิขสิทธิ์เยอะเกินไป โปรเจกต์มันเลยล่มไปเป็นส่วนใหญ่
แต่ทีนี้ เราจะพูดถึงโฮโลแกรมแบบ ‘แท้ๆ’ กัน
โฮโลแกรมที่แท้นั้น ภาพที่ฉายมันจะไม่ใช่แนวราบแบบมีแค่ ‘กว้างxยาว’ มันจะมีความ ‘ลึก’ ด้วย ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ เครื่องฉายแสงแบบ 2 มิติ มันต้องฉายแสง 2 ระดับพร้อมกัน ให้เกิดความ ‘ลึก’ ของสิ่งที่ฉายภาพออกมา แบบนั้นถึงจะเป็นโฮโลแกรมแท้
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถ้าจะแค่ทำ ‘ภาพนิ่ง 3 มิติ’ นั้นไม่ยากเย็นอะไร แต่ความยากที่แท้กลับอยู่ที่การสร้าง ‘ภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ’ เพราะต้องใช้พลังการประมวลผลสูงมากๆ ระดับที่ในปัจจุบันยังต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทำ
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการประมวลผลสูงมาก และที่จริงซูเปอร์คอมพิวเตอร์มันก็ทำออกมาได้ไม่ดีเท่าไร เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างมาแบบนั้น หรือพูดรวมๆ คือถึงทำได้ เทคโนโลยีมันก็ไม่มีทางจะแพร่หลาย เพราะทุกบ้านยังไม่มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์กันในเร็ววันนี้แน่ๆ
แต่ล่าสุด นักวิจัยค้นพบวิธีการสร้างโฮโลแกรมโดยใช้พลังประมวลผลน้อยมาก ระดับที่สามารถประมวลผลบน iPhone ที่ตกรุ่นไปนิดหน่อยยังทำได้เลย
แล้วเขาทำยังไง?
คำตอบคือใช้ AI โดยนักวิจัยจะทำการ ‘ฝึก’ AI ให้ประมวลผลภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติ แบบที่จะประหยัดพลังประมวลผลให้มากที่สุดจนออกมาเป็น ‘โปรแกรมสร้างโฮโลแกรม’ ซึ่งผลคือ มันทำให้แม้แต่สมาร์ทโฟนทั่วไปก็สามารถฉายภาพโฮโลแกรมได้ดีกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ฉายโฮโลแกรมด้วยเทคโนโลยีแบบเก่า พูดง่ายๆ คือ AI เข้ามาแก้ปัญหาที่มนุษย์ไม่เคยแก้ได้อีกแล้ว แค่มนุษย์โยนปัญหาให้แก้ มันคิดวิธีแก้ของมันเอง
ทั้งนี้งานศึกษานี้ก็ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Light: Science & Applications ช่วงสิงหาคม 2022 ไป ซึ่งก็แน่นอนอาจจะไม่ใช่ปีสองปีที่เราจะเห็นเทคโนโลยีนี้ แต่ถ้ารอสัก 4-5 ปี บอกเลยว่ามีลุ้นที่เราจะได้ฉายโฮโลแกรมกันเล่นๆ ด้วยเทคโนโลยีแบบนี้
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3542718479387012/