สอวช. เตรียมเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม EV Conversion ดัดแปลงเครื่องยนต์รถเก่า เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 แก้ปัญหาระยะยาว
สืบเนื่องจากผลการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบสัดส่วนแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 มาจาก 4 แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่
1. การจราจรทางบก สัดส่วนอาจสูงถึง 43%
2. ฝุ่นทุติยภูมิที่แขวนลอยในบรรยากาศ 20-30%
3. การเผาชีวมวล 15-25%
และ 4. ฝุ่นดินละเอียด 8-17%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะฝุ่นที่มาจากการจราจรทางบก ผลการศึกษาของ TDRI (ปี 2564) สอดคล้องกับการศึกษาของ AIT (ปี 2563) พบว่า ฝุ่น PM 2.5 มาจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ 43% รถบรรทุกขนาดเล็ก ปิคอัพ 30% และรถประจำทาง 17% รถที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ซึ่งมีมาตรฐานไอเสีย Pre-Euro + Euro 1 ปล่อยฝุ่น PM2.5 มากถึง 55% ของแหล่งกำเนิดที่มาจากการขนส่งทางถนน เนื่องจากจำนวนรถบรรทุกที่มีอายุมากกว่า 20 ปี (และอายุมากกว่า 15 ปี) เป็นสัดส่วนที่สำคัญของรถบรรทุกทั้งหมด อีกทั้งเป็นรถที่มีมาตรฐานไอเสียต่ำ ปล่อยฝุ่น PM 2.5 สูง ดังนั้น แนวทางลดฝุ่น PM 2.5 ควรเน้นการปรับปรุงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ควบคู่กับคุณภาพเชื้อเพลิง และลดจำนวนรถที่ปล่อยมลพิษสูงในเขตเมือง
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สอวช. ในฐานะเป็นหน่วยงานด้านการทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาใช้ให้เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงได้มีแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดโครงการดัดแปลงรถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EV Conversion เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด
การจะเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบฉับพลัน อาจจะกลายเป็นการดิสรัประบบอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถยนต์ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน EV Conversion จึงอาจเริ่มจากการใช้ตลาดภาครัฐ (Government Procurement ) และค่อยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้ครอบคลุมประเภทของยานพาหนะให้กว้างขวางมากขึ้น
ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าจากรถเก่าที่มีอยู่ สามารถตอบโจทย์ทั้งในส่วนของการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดการแบกภาระในการซื้อรถใหม่ที่มีราคาสูงกว่ามาก และยังสามารถต่อยอดอาชีพของผู้ประกอบการเดิม ในการทำชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออู่รถได้ ซึ่งในระยะยาว สามารถยกระดับเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตได้อีกด้วย
ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สอวช. ยังมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดการปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน
“50% ของบริษัทส่งออกบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)”
โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนสร้างเมืองต้นแบบที่ จ.สระบุรี และ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และพื้นที่ EEC คือ จ.ระยอง ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน
อีกแนวทางหนึ่งคือ การพัฒนาให้เกิดมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) พัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Service Provider) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย และขยายการให้บริการออกไปสู่สังคมด้วย
แหล่งข้อมูล