สภาวิศวกรชี้การแก้ปัญหาขยะในไทยต้องเริ่มจาก “มายด์เซ็ต” พร้อมโชว์โมเดลการแก้ปัญหาขยะด้วยเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรม ซึ่งจะเป็นทางออกสำคัญเพื่อแก้วิกฤตขยะล้นประเทศ
ขยะในไทยถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาแสนนาน เนื่องจากระบบจัดการขยะยังขาดมาตรฐาน ไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนมีเพียงการขอความร่วมมือ ซึ่งถ้าหากเรามีระบบการจัดการขยะที่ดี จะช่วยให้สามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง สภาวิศวกรจึงชูแนวคิดทางวิศวกรรมที่ช่วยจัดการขยะรีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่ ที่นอกจากจะช่วยลดภาระในการกำจัดขยะแล้ว ยังสามารถลดปริมาณขยะที่ปลายทางได้
ปัญหาขยะกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ปัญหาขยะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะในไทยเป็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานาน แนวทางคัดแยกยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของแต่ละพื้นที่ หากต้องการให้การจัดการขยะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามามีส่วนรวม และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการในปัจจุบัน รวมถึงภาคประชาชนควรให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
รศ. ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สภาวิศวกร กล่าวว่าการคัดแยกขยะจะเกิดขึ้นระหว่างทาง จากแหล่งขยะไปจนถึงหลุมฝังกลบ ซึ่งการแยกขยะในระดับชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ขยะที่ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น พลาสติก โลหะ ขวดแก้ว กระดาษ
2. ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ สารเคมี ถ่านไฟฉาย
3. ขยะที่ยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ขยะเปียก ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร
ในส่วนของขยะที่ยังมีมูลค่าหรือสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนใหญ่จะมีผู้รวบรวมและนำไปขายให้ผู้รับซื้อ เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือสร้างประโยชน์ใยทางอื่นต่อ ในขณะที่ขยะอันตรายจะถูกแยกทิ้งและแยกเก็บเพื่อนำไปกำจัดที่โรงงานสำหรับขยะอันตรายโดยเฉพาะ ส่วนขยะที่ยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนใหญ่จะถูกเก็บโดยไม่มีการคัดแยกซึ่งปลายทางหนีไม่พ้นหลุมฝังกลบทั้งๆที่บางส่วนยังสามารถนำปใช้ประโยชน์ต่อได้
กระบวนการทางวิศวกรรมกับการจัดการขยะในไทย
กระบวนการทางวิศวกรรม ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาจากข้อมูลพร้อมนำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม สำหรับปัญหาขยะในไทย สามารถจัดการให้เหมาะกับบริบททางสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง หรือแม้กระทั่งการปูถนนจากขยะพลาสติก ที่นำขยะมาบดย่อยผสมยางมะตอยและหิน นอกจากจะมีประโยชน์ในการเพิ่มความแข็งแรง และยืดอายุการใช้งานของถนนแล้ว ยังช่วยกำจัดขยะพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะนำไปทำวัสดุก่อสร้างอย่าง อิฐบล็อก กระเบื้องปูพื้นสนาม หรือสิ่งปลูกสร้างที่เน้นความยั่งยืนของการใช้พลังงานก็เป็นแนวทางต่อยอดที่น่าสนใจไม่น้อย
รับเทรนด์ “ปลอดคาร์บอน” กับอาคาร Eco-friendly
รศ.ดร. ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7 กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะ อาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่จึงมีเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากการก่อสร้างและการดำเนินงาน เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด นอกจากนี้ยังบริหารจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง เพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
แหล่งข้อมูล