ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเห็นพ้องเรื่องการเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน ผ่านเทคโนโลยี Biometric Comparison หลังพบข้อมูลการทุจริตจากบัญชีม้าและธุรกรรมต้องสงสัย แต่จะจัดทำโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย PDPA
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. และสถาบันการเงินอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้าระหว่างกัน โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ หลังจากร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้ โดยร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่ต้องสงสัยได้ โดยไม่ขัดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ธปท. ยังมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติมด้วยคือมีการเพิ่มเงื่อนไขในกระบวนการยืนยันตัวตน โดยให้ธนาคารเพิ่มเทคโนโลยี biometric comparison บนโมบายแบงกิ้งเข้าไป หากพบว่ามีการโอนเงินที่ผิดเงื่อนไขตามที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็น การโอนเงินจำนวนมาก ทั้งจำนวนเงิน และความถี่ รวมถึงการปรับเพิ่มวงเงินต่อวัน โดยกำหนดตามพฤติกรรมหรือระดับความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotlines) อย่างเพียงพอตลอด 24 ชม. เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าสามารถแจ้งเหตุหลอกลวงได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการตรวจจับบัญชีม้าเพิ่มขึ้น จากการที่ตำรวจและสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการตรวจจับ
อนึ่ง “บัญชีม้า” หรือการใช้บัญชีผู้อื่นทำธุรกรรมการเงินแทน ถือเป็นอีกช่องทาง ที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการรับเงินโอน หลังจากหลวกลวงผู้ใช้งานก่อนที่จะโอนเงินไปสู่ บัญชีปลายทาง
ในแง่ของผู้ที่รับเปิดบัญชีแทนผู้อื่น เพื่อให้มีการนำไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายก็ถือว่ามีความผิดร่วมกัน โดย พ.ร.ก.อาชญากรรมออนไลน์ ได้ระบุโทษจากการ “เปิดบัญชีม้า” จะต้องโทษคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แหล่งข้อมูล