ConTech หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง กำลังเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในกลุ่ม VC และ กลุ่ม CVC
ข้อมูลจาก CEMEX Ventures ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนของ CEMEX ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจปูนและวัสดุก่อสร้างหนึ่งในห้าของโลก ระบุว่า ในปี 2565 ดีลของการลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน ConTech มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 228 ดีลและมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์
กลุ่มที่มีการลงทุนสูงสุดสามกลุ่มใหญ่คือ
1. กลุ่มของเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างอาคารให้รวดเร็วขึ้น
2. กลุ่มของเทคโนโลยีที่ช่วยการบริหารจัดการซัพพลายเชนของธุรกิจก่อสร้าง
3. กลุ่มที่มาแรงและมีแนวโน้มการเติบโตมากที่สุดในปี 2565 คือกลุ่ม Green Construction
ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์การก่อสร้างในอนาคตเช่น อาคารสีเขียว การก่อสร้างที่ลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงกลุ่มนวัตกรรมวัสดุภัณฑ์สำหรับการก่อสร้างภายใต้กรีนคอนเซปต์
ถ้าพูดถึง “ConTech” ในสายตาของคนนอกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุน VC ที่เป็น Industry Agnostic คือลงทุนแบบไม่เฉพาะเจาะจงในกลุ่มธุรกิจใดกลุ่มหนึ่ง อาจจะฟังดูไม่ค่อยเซ็กซี่ เพราะธุรกิจก่อสร้างเป็นในอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่า “ยากและซับซ้อน” เพราะต้องการความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ คนที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้าง ร่วมกับการนำเอาเทคโนโลยีอื่นมาปรับใช้ เช่น AI, Computer Vision, Robotics, IoT, AR/VR เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเทียบกับสตาร์ตอัปในสาขาอื่น จำนวนของสตาร์ตอัปในกลุ่มนี้ยังถือว่ามีจำนวนน้อยมาก แต่บนความน้อยนั้นมีโอกาสซ่อนอยู่ เพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีสัดส่วนถึง 8 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และมีการจ้างงานถึงกว่า 100 ล้านคน
นักลงทุนในสายของ ConTech คาดการณ์ว่า 2566 จะเป็นปีทองของ ConTech ข้อมูลจาก A/O Proptech รายงานว่า จำนวนดีลการลงทุนในสตาร์ตอัปที่พัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์อสังหา/อาคารสีเขียวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2560-2565 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ และเติบโตขึ้นถึง 84%
สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจ ConTech มีปัจจัยหลักสองส่วนคือ การมุ่งสู่เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและจังหวะความพร้อมของเทคโนโลยี AI, IoT, Robotics, 3D Printing ที่พร้อมแล้วในการใช้งานจริงเพราะได้ถูกนำไปใช้งานแล้วในภาคการผลิตและในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น
ในปี 2565 มีสตาร์ตอัปหลายรายที่ระดมทุนได้แล้วในระดับร้อยล้านดอลลาร์ โดยนำเสนอโซลูชันทางด้านพลังงานเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มอาคารสีเขียวและอาคารอัจฉริยะเช่น Bloc Power, Redaptive, และ Passive Logic
อุตสาหกรรมก่อสร้างถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่นำความเจริญมาสู่โลก แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทั้งพลังงาน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างขยะและก่อมลภาวะให้กับโลกเป็นอันดับต้น ๆ การเร่งแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ตอัป เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม
เส้นทางการร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างองค์กรใหญ่ในภาคการก่อสร้างและสตาร์ตอัปที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือ อาจนำไปสู่การพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” ไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
แหล่งข้อมูล