ศาลโคลอมเบียทำการพิจารณาคดีบน ‘Metaverse’ ของ Facebook

Share

Loading

ทุกวันนี้สิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘Metaverse’ ถูกตั้งคำถามว่ามันเป็นเพียงกระแสบ้าเห่อทางเทคโนโลยีที่จะผ่านไป หรือจะเป็นเทคโนโลยีที่จะเป็นมาตรฐานใหม่ในยุคต่อไปกันแน่ คำถามอยู่ที่ว่าคนจะใช้มันแค่ไหน และนี่ก็เป็นปัญหาโลกแตกของ Facebook ที่ลงทุนไปหลักแสนล้านบาท กับ Metaverse ของตัวเองที่เรียกว่า Horizon World แต่ก็แทบไม่มีคนเข้าไปใช้

อย่างไรก็ดี มันก็มีบางฝ่ายที่เห็นประโยชน์ และเริ่มนำไปใช้ และนั่นก็ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาครัฐด้วย

เช่นศาลที่โคลอมเบีย ที่ล้ำสุดๆ ด้วยการพิจารณาคดีกับบน Metaverse ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2023 โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องมีอวตารของตัวเอง และทางศาลก็ยืนยันว่าจะไม่มีการปลอมตัวแน่นอน เพราะมีการให้รหัสลับกับทุกคนในการเข้าร่วมประชุม ซึ่งถ้านั่นยังล้ำไม่พอ การพิจารณาคดีทั้งหมด ถูกถ่ายทอดสดทาง YouTube ด้วย (ดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=LXi2TX9OBmQ) และตอนถ่ายทอด มีคนเข้าไปดูถึงกว่า 2,500 คนเลยทีเดียว

แน่นอนว่าการพิจารณาคดีแบบนี้ต้องมีคนวิจารณ์ โดยคนก็วิจารณ์ว่า การเจอหน้ากันผ่านอวตารนี้มันไม่เห็นสีหน้าจริงๆ มันจะไปพิจารณาคดีอย่างเหมาะสมได้ยังไง

แต่บางคนก็เห็นข้อดีของการทำแบบนี้ เพราะจริงๆ สำหรับคนที่ไม่ได้ร่ำรวยเงินทองและเวลา การเดินทางไปร่วมพิจารณาคดีที่ศาลมันเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และการย้ายกระบวนการแบบนี้ไปทำบน Metaverse มันก็น่าจะเป็นการช่วยให้คนที่มีเงื่อนไขแบบที่ว่า สะดวกใจจะเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

สุดท้าย ทั้งหมดนี้คนก็ตั้งคำถามว่า เอาจริงๆ การทำแบบนี้มันต่างอะไรกับการร่วมพิจารณาคดีทาง Zoom หรือทางวิดีโออื่นๆ? คือมันตื่นตาตื่นใจกว่า แต่จริงๆ มันต่างกันหรือ โดยเฉพาะถ้ามองในเชิงหน้าที่ทางสังคมของการพิจารณาคดีที่มันไม่ต้องมี ‘ภาพสวย’ ก็ดำเนินไปได้

เมื่อคิดแบบนี้ก็รู้สึกว่า ‘นั่นน่ะสิ’ เราจะพิจารณาคดีบนนี้กันไปทำไมกัน?

ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่คนตั้งคำถามกับเทคโนโลยี Metaverse มากพักใหญ่แล้ว เพราะส่วนใหญ่มันจะโชว์ว่า เราสามารถทำกิจกรรมที่เราทำข้างนอกได้บนนั้น แต่มันกลับไม่ตอบคำถามว่า แล้วทำไมเราถึงต้องเอากิจกรรมพวกนี้ขึ้นไปทำบนนั้นแต่แรกล่ะ นั่นเอง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3591794327812760/