กลุ่มทนายอเมริกันรุมฟ้อง ‘ทนาย AI’ ฐานไม่มี ‘ใบอนุญาตทนาย’

Share

Loading

ในสหรัฐอเมริกา อาชีพหนึ่งที่ทำให้รวยได้คือทนาย เพราะประเทศนี้ฟ้องร้องกันแทบจะทุกเรื่อง และค่าแรงทนายก็ไม่ใช่น้อยๆ นี่เลยทำให้อีกด้านหนึ่งมี Startup หัวใสพยายามจะใช้เทคโนโลยีมา ‘Disrupt’ อุตสาหกรรมทนาย และที่เด่นที่สุดอันหนึ่งคือ DoNotPay ที่เป็นแอปที่ให้บริการมาแล้วตั้งแต่ปี 2016

อธิบายสั้นๆ คือ DoNotPay ก็คือ ‘ทนาย AI’ น่ะแหละ เพราะมีการเอาข้อมูลทางกฎหมายมาให้ AI ประมวลผล และให้บริการทางกฎหมายง่ายๆ กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาคนโดนใบสั่ง การเขียนจดหมายขอวีซ่า ไปจนถึงสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการร่างเอกสารทางกฎหมายทั่วๆ ไป โดยค่าบริการนั้นอยู่ราวๆ เรื่องละ 600 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าการไปจ้างทนายจริงๆ ที่น่าจะสตาร์ทค่าบริการขั้นต่ำชั่วโมงละประมาณ 1,700 บาท

ว่ากันตรงๆ งานที่ AI น่าจะทำได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือพวกงานกฎหมายนี่แหละ เพราะ ‘ข้อมูล’ ในงานทั้งหมดมันเป็นตัวหนังสือ ซึ่งประมวลผลได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนทำมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว เพราะ AI ที่ทำได้สารพัดแบบ ChatGPT นั้นก็ถือเป็นเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่ง

จนกระทั่งต้นปี 2023 โจชัว บราวเดอร์ (Joshua Browder) ผู้ก่อตั้ง DoNotPay ทวีตว่าเขาจะผลักดันให้ทนายหุ่นยนต์ (หรือจริงๆ ก็คือทนาย AI) ได้ไปว่าความในศาลจริงๆ ก็เลยทำให้เกิดกระแสตีกลับเพราะเหล่าทนายที่เป็นคนจริงๆ ไม่พอใจอย่างมากกับแนวคิดเรื่องการใช้ AI แทนทนายที่เป็นคน

ผลก็คือ ทนายก็สู้อย่างทนายสุดๆ ในเดือนมีนาคม 2023 กลุ่มทนายรวมตัวกันฟ้องหมู่ DoNotPay บนฐานว่าบริษัทนั้นให้บริการทางกฎหมาย โดยไม่มี ‘ใบอนุญาตทนาย’ เพราะทั้งบริษัทนี้ก็ไม่มีทนายเลยแม้แต่คนเดียว พวกทนายกล่าวว่าโจทก์ที่ฟ้องร้องเคยใช้บริการร่างเอกสารของ DoNotPay พบว่าบริการหลายอย่างไม่ได้มาตรฐาน โดยมีการยกตัวอย่างว่าครั้งหนึ่ง AI ไม่ได้ร่างอะไรในเอกสารร้องเรียนของผู้ใช้บริการเลย เพราะทั้งเอกสารมีแค่ชื่อของผู้ร้องเรียนอยู่บนกระดาษเปล่า

แต่ข้อกล่าวหาที่มากกว่านั้นคือ DoNotPay เป็นการทำงานบริการทางกฎหมายโดยไม่มีใบอนุญาต และไม่มีแม้แต่ทนายที่มีใบอนุญาตคอยกำกับดูแล ซึ่งเป็นสิ่งที่สุ่มเสี่ยงมากๆ สำหรับผู้บริโภค เพราะถ้างานพวกนี้ไม่มีความเสี่ยงอะไร ใครก็ทำได้ มันก็ไม่ควรจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาแต่แรก

แน่นอน เรื่องทั้งหมดก็ฟังดูตลกๆ และเราก็เดายากว่าผลจะเป็นยังไง เพราะบราวเดอร์เองก็ไม่ยอมตอบสื่อว่าเวลาไปขึ้นศาล เขาจะใช้บริการ DoNotPay หรือจะจ้างทนายที่เป็นคนจริงๆ มาว่าความ

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ ในยุคที่ Disruption ของ AI มาถึง ‘งานบริการ’ ส่วนใหญ่การต่อสู้ของ ‘คนทำงาน’ นั้นจะเป็นการต่อสู้เพื่อหาเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะทำให้ AI เหล่านั้น ‘ผิดกฎหมาย’ เช่น บรรดานักวาดรูป ก็พยายามจะบอกว่าการที่ AI วาดรูปคือการเอาภาพของพวกเขาไปประมวลผลซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จริงๆ การ ‘ประมวลผล’ นั้นแต่ไหนแต่ไรมาก็อยู่นอกการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ และก็ไม่เคยมีใครโวยวายอะไรด้านลิขสิทธิ์เมื่อข้อมูลตัวเองถูกเอาไป ‘ประมวลผล’

ซึ่งในแง่นี้ เราก็น่าจะเจอการฟ้องร้องทำนองเดียวกันจาก ‘ผู้ประกอบวิชาชีพ’ อีกมากมาย ที่รู้สึกว่า AI กำลังจะมาแย่งงานพวกเขา

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3600043903654469/