“เกาหลีใต้” กับทางออกของโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์” ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนที่ราบ

Share

Loading

จากภูมิประเทศของเกาหลีใต้ที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินแกรนิตและหินปูนถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ด้วยภูมิประเทศที่เป็นภูเขามากกว่าที่ราบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การเดินทางไปมาโดยขึ้นลงภูเขาหรือเนินระดับต่างๆ กันเป็นเรื่องปกติแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้โครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ โดยเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้ที่ดินซึ่งเป็นที่ราบได้ เพราะมีความจำเป็นในการใช้ที่ราบซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อประโยชน์อย่างอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับประชากรกว่า 51.8 ล้านคน

ด้วยเหตุนี้แผงโซลาร์เซลล์รูปทรงดอกบ๊วยขนาดยักษ์กว่า 92,000 แผง จึงถูกนำมาลอยเรียงรายกลางเขื่อนฮัปชอน ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในเขตฮัปชอน จังหวัดคย็องซังใต้ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในเขื่อนนี้ที่มีความยาว 19 กิโลเมตร คลาคล่ำไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์รูปทรงดอกบ๊วยขนาดยักษ์ที่บานสะพรั่ง 17 ดอก สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 41.5 เมกะวัตต์ เพียงพอที่จะให้พลังงานสะอาดแก่ผู้คนกว่า 60,000 คน ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของเขตนี้

สำหรับโครงการแผงโซลาร์เซลล์อันงดงามนี้ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสำหรับน้ำโดยเฉพาะ สามารถต้านทานความชื้นและความร้อนได้ดีมาก นับเป็นหนึ่งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่สุดในโลกที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังถือว่ามีความล้าหลังในการใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าเป็นอย่างมาก

ประธานาธิบดี มุนแจอิน ของเกาหลีใต้เชื่อว่าเมกะโปรเจกต์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะสามารถช่วยให้เกาหลีใต้กลายกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2593 ในขณะที่เพิ่มพลังงาน 9.4 จิกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 9 เครื่องลงในกริดพลังงาน

ด้าน คิม จีซก ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของกรีนพีซ ประจำเกาหลีใต้เชื่อว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลกนี้ ต้องการพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและแผงโซลาร์เซลล์ที่ลอยอยู่ในเขื่อนจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหานี้ได้

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ 14 ในโลก ที่ออกกฎหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยมีเป้าหมายชั่วคราวที่การลดการปล่อยก๊าซ 40% ภายในปี 2573 แต่เมื่อปี 2561 โสมใต้นำเข้าแหล่งพลังงานมากกว่า 90% เนื่องจากขาดแหล่งพลังงานภายในประเทศที่เพียงพอ ขณะที่ในปี 2564 เกาหลีใต้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 576,316 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยเพิ่มขึ้น 18% แม้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะลดลงอย่างมาก แต่ถ่านหินยังคงมีสัดส่วนสูงประมาณ 34% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

ทั้งนี้เกาหลีใต้ได้เผยแพร่แผนพื้นฐานฉบับที่ 9 สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาวและปี 2563-2577 สะท้อนถึงมาตรการในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของเกาหลีใต้ที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มการผลิตก๊าซและพลังงานหมุนเวียน เพื่อชดเชยพลังงานจากถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกาหลีใต้เปิดตัว Renewable Portfolio Standard (RPS) ในปี 2555 การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในแผนขั้นพื้นฐานฉบับที่ 9 ดังกล่าว ที่มุ่งจัดหาไฟฟ้าและความต้องการไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งตามแผนพื้นฐานฉบับที่ 9 เกาหลีใต้กำลังก้าวไปสู่อนาคตที่สะอาดขึ้นด้วยพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 34% ของกำลังการผลิตพลังงานทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วน 15% ในปัจจุบัน โดยทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะเป็นพลังงานหมุนเวียนหลักในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของประเทศนี้

โดยนอกเหนือจากเมกะโปรเจกต์เพื่อพลังงานสะอาดที่เขื่อนฮัปชอนแล้ว เกาหลีใต้ยังมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ในปี 2563 ทางการกรุงโซลได้เปลี่ยนจัตุรัสควังฮวามุนให้เป็นถนนพลังงานแสงอาทิตย์โดยติดตั้งม้านั่ง ถังขยะ และไฟด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนสวนสาธารณะจัมซิลฮันกังและอุทยานฟุตบอลโลกให้เป็นถนนพลังงานแสงอาทิตย์และจัตุรัสพลังงานแสงอาทิตย์ตามลำดับ รวมถึงวางแผนที่จะให้เขตมากอกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อทำให้เขตนี้สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ 30%

ขณะที่โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำอีกแห่งของเกาหลีใต้ในจังหวัดช็อลลาเหนือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ภายใต้การลงทุนของ SK Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำแห่งนี้จะมีกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณ 2.5 ล้านแผง เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ คาดว่าจะให้พลังงานไฟฟ้าให้กับ 1 ล้านครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศได้ 1 ล้านเมตริกตัน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/03/15/solar-cell-solution-for-south-korea/